Search for content in this blog.

2554-06-09

หลักการ การกำกับดูแลการเสนอขายกรมธรรม์ Unit Link

หลักการ
การกำกับดูแลการเสนอขายกรมธรรม์ Unit Link

ในระยะที่ผ่านมามีบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งประสงค์ที่จะออกกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการ
ลงทุน (Unit-linked Life Insurance Policy : "กรมธรรม์ unit link")
โดยกรมธรรม์ดังกล่าวมีลักษณะพิเศษ คือ
เบี้ยประกันที่บริษัทประกันชีวิตเรียกเก็บจากผู้เอาประกันภัยจะถูกแบ่งออกเป็น
2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นค่าเบี้ยประกัน
สำหรับการให้ความคุ้มครองต่อการมรณะและเงื่อนไขการจ่ายเงินเมื่อมีการทรงชีพ
และส่วนที่ 2 เป็นส่วนเงินลงทุน
ที่จะนำไปลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และข้อจำกัดการลงทุนของผู้เอาประกันภัย
โดยบริษัท
ที่รับจัดการเงินดังกล่าวจะออกหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
เงินลงทุนส่วนนี้จึงไม่รับประกันผลตอบแทน

เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตมีตัวแทนประกันชีวิตที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการประกันภัยเป็นเครือข่ายในการเข้าถึงผู้ลงทุนในวงกว้าง
หากสนับสนุนให้มีการออกและเสนอขายสินค้าและบริการผ่านตัวแทนขายประกันชีวิตเหล่านี้ก็จะส่งผลดีต่อการขยายจำนวนผู้ลงทุนซึ่งก่อให้เกิดโครงสร้างตลาดทุนที่ดี
ประกอบกับปัจจุบันกรมธรรม์ประเภทที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ investment
product ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เช่น
กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ซึ่งกรมธรรม์ unit link
จะช่วยเพิ่มรูปแบบกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันชีวิต
มากขึ้น ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต.
และกรมการประกันภัยจึงเห็นควรสนับสนุนให้บริษัทประกันชีวิตสามารถออกกรมธรรม์
unit link ดังกล่าวได้ โดยการบริหารจัดการส่วนการลงทุนเข้าข่ายเป็น
"การจัดการกองทุนรวม" ภายใต้
พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
และผู้ทำหน้าที่จัดการส่วนการลงทุนของกรมธรรม์ unit link
จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
ซึ่งสำนักงานจะเป็นผู้กำกับดูแล
ในขณะที่กรมการประกันภัยจะเป็นผู้กำกับดูแลส่วนที่เกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันชีวิตและบริษัทประกันชีวิตตามปกติ

ด้วยลักษณะที่กรมธรรม์ unit link
มีส่วนของการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมผูกติดอยู่กับกรมธรรม์ประกันชีวิต
เมื่อครบอายุการทำกรมธรรม์ unit link หรือสัญญาการทำกรมธรรม์ unit link
ถูกยกเลิกก่อนครบอายุ ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนในจำนวนที่ไม่แน่นอน
จำนวนเงินที่ได้รับคืนจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนรวม
ผู้เอาประกันภัยของกรมธรรม์ unit link
จึงเป็นผู้รับความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของ
ผลตอบแทนจากส่วนของการลงทุน แทนความคุ้นเคยกับลักษณะเดิม ๆ
ของกรมธรรม์ทั่วไปที่บริษัทประกันชีวิต
เป็นผู้รับประกันจำนวนเงินบางส่วนที่ผู้เอาประกันจะได้รับคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา
นอกจากนั้น ผู้เกี่ยวข้อง
หลักของกรมธรรม์ unit link มี 2 ฝ่ายคือ บริษัทประกันชีวิต
และบริษัทจัดการ ทำให้ลักษณะของกรมธรรม์ unit link
ค่อนข้างซับซ้อนและแตกต่างกับกรมธรรม์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเงื่อนไข
หรือวิธีการในแบบประกันที่แตกต่างกัน
ออกไป ดังนั้น เพื่อให้การเสนอขายกรมธรรม์ unit link เป็นไปอย่างเหมาะสม
และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจ
เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจที่ดีพอของผู้เอาประกันภัยในอนาคต
การกำกับดูแลตัวแทนขายกรมธรรม์ unit link จะมี
มาตรฐานคล้ายกับการกำกับดูแลตัวแทนขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ทั้งในเรื่องการอบรมและการสอบขึ้นทะเบียนของตัวแทนขาย
รวมทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานในการให้คำแนะนำและการปฏิบัติงาน
(code of conduct)
โดยมีบางส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของกรมธรรม์
unit link ซึ่งกรมการประกันภัยจะเป็นผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลตัวแทนขายกรมธรรม์
unit link ต่อไป
รายละเอียดเกี่ยวกับการกำกับดูแลการเสนอขายกรมธรรม์ unit link มีดังต่อไปนี้

1. การให้ความเห็นชอบตัวแทนขายกรมธรรม์ Unit Link

จากการที่กรมธรรม์ unit link
ประกอบด้วยส่วนของกรมธรรม์ประกันชีวิตและหน่วยลงทุนของ
กองทุนรวม ซึ่งมีส่วนที่จะได้รับเงินคืนแน่นอนเมื่อเสียชีวิตหรือเมื่อมีการทรงชีพครบตามเงื่อนไข
และส่วนของ
ผลตอบแทนที่มีความไม่แน่นอนจากการลงทุนในหน่วยลงทุน กรมธรรม์ unit link
จึงถือเป็นเครื่องมือทางการเงิน
ที่แตกต่างจากกรมธรรม์ประกันชีวิตตามปกติและหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั่วไป
ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่จะกำกับดูแลผู้ขายกรมธรรม์ unit link
จึงมีส่วนที่แตกต่างจากการกำกับดูแลตัวแทนขายประกันชีวิตที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการประกันภัย
และการกำกับดูแลผู้ขายหน่วยลงทุนตามปกติที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ก.ล.ต. ซึ่งกรมการประกันภัยจะเป็นผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ขายกรมธรรม์
unit link
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.
เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ขาย
หน่วยลงทุนของกองทุนรวมแล้ว และมีความประสงค์ที่จะขายกรมธรรม์ unit link
ด้วย จะต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขายกรมธรรม์ unit link
กับกรมการประกันภัย ในทางกลับกัน
ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ขายกรมธรรม์ unit link
กับกรมการประกันภัยแล้ว
และมีความประสงค์ที่จะขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปกติก็จะต้องได้รับความ
เห็นชอบเป็นผู้ขายหน่วยลงทุนจากสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยเช่นกัน

1.1 ผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ขายกรมธรรม์ unit link ได้ ประกอบด้วย
พนักงานของบริษัทประกันชีวิต หรือ
ตัวแทนขายประกันชีวิต หรือพนักงานของบริษัทจัดการ
ที่ได้รับความเห็นชอบหรือขึ้นทะเบียนจาก
กรมการประกันภัย
1.2 บริษัทประกันชีวิตที่จะขายกรมธรรม์ unit link ได้
(ในฐานะตัวแทนสนับสนุนการขายหน่วยลงทุนของ
บริษัทจัดการ) จะต้องได้รับความเห็นชอบหรือขึ้นทะเบียนจากกรมการประกันภัยด้วย
1.3 ผู้ขายกรมธรรม์ unit link ต้องได้รับความเห็นชอบหรือขึ้นทะเบียนเป็น
"ผู้ทำหน้าที่ขายกรมธรรม์ unit link"
จากกรมการประกันภัย
ซึ่งคุณสมบัติส่วนหนึ่งของผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำหน้าที่ขายกรมธรรม์
unit link นี้
จะต้องผ่านการทดสอบความรู้เทียบเท่ากับบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ขายหน่วยลงทุนระดับ
1 (IP)
ของสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากกรมธรรม์ unit link เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่
ทำให้ผู้เสนอขายกรมธรรม์ unit link
ในระยะเริ่มแรกควรต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจค่อนข้างดีเกี่ยวกับการประกันชีวิตและการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ประกอบกับการเสนอขายกรมธรรม์โดยปกติจะต้องให้คำแนะนำที่พิจารณาจากวัตถุประสงค์
ฐานะการเงิน และสุขภาพของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายเป็นสำคัญ ดังนั้น
ผู้ขายกรมธรรม์ unit link จึงต้องให้
คำแนะนำที่สอดคล้องกับความต้องการและความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย
ซึ่งเป็นขอบเขตหน้าที่ที่จะกระทำได้โดยบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ขายหน่วยลงทุนระดับ
1
1.4 ตัวแทนขายประกันชีวิตที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขาย Unit Link
กับกรมการประกันภัยแล้ว หากต้องการขาย
หน่วยลงทุนทั่วไปจะต้องขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ขายหน่วยลงทุนกับสำนักงานอีกครั้ง
โดยกำหนดให้สามารถแสดงความจำนงผ่านทางกรมการประกันภัย
ซึ่งจะส่งผ่านข้อมูลให้กับสำนักงาน

2. ตัวแทนช่วง


- เฉพาะในการขายกรมธรรม์ Unit Link
ตัวแทนสนับสนุนสามารถตั้งตัวแทนสนับสนุนช่วงได้ โดย
ตัวแทนสนับสนุนช่วงที่ได้รับการแต่งตั้งจะเป็นได้เฉพาะบุคคลธรรมดาที่ขึ้นทะเบียนแล้วกับ
กรมการประกันภัย
- บริษัทประกันชีวิตที่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการประกันภัยเท่านั้นที่จะสามารถตั้งตัวแทนสนับสนุนช่วงได้
- บริษัทประกันชีวิตต้องทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนสนับสนุนช่วงเป็นหนังสือโดยกำหนดสิทธิและหน้าที่ที่
ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศ
และมีข้อสัญญาที่กำหนดให้ตัวแทนสนับสนุนช่วงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด
ในประกาศ
- บริษัทประกันชีวิตต้องดูแลให้ตัวแทนสนับสนุนช่วงปฏิบัติตามข้อสัญญาและข้อกำหนดในประกาศด้วย

3. หน้าที่และมาตรฐาน ในการขายกรมธรรม์ Unit Link

3.1 ขอบเขตของบุคคลผู้ทำหน้าที่ขายและการให้คำแนะที่เหมาะสมกับลูกค้า
1. ในการติดต่อเพื่อเสนอขาย ชักชวน ให้คำแนะนำหรือให้ข้อมูลทั่วไป
และรับคำสั่งจากลูกค้า
ต้องกระทำโดย IP
2. ในการเสนอขาย ผู้ขายกรมธรรม์ unit link
ต้องทำความรู้จักลูกค้าก่อนให้คำแนะนำ
หรือต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายโดยมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการให้คำแนะนำ
3. ในการสั่งซื้อหน่วยลงทุนในแต่ละครั้งตามเงื่อนไขในกรมธรรม์
หากลูกค้ามีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการลงทุนในกองทุนที่เคยทำสัญญาไว้
ตัวแทนต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้าโดยปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าให้เป็นปัจจุบันก่อนทุกครั้ง
4. การปรับปรุงข้อมูลของลูกค้าให้เป็นปัจจุบันจะเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด

3.2 เอกสารที่ใช้ในการขาย และการเปิดเผยคำเตือน
1. เปิดเผยคำเตือน ดังต่อไปนี้
เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงความแตกต่างของการทำกรมธรรม์ทั่วไป กับกรมธรรม์
unit link
(1) คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการทำกรมธรรม์ unit link
"การทำกรมธรรม์ unit link มีความเสี่ยง
ผู้เอาประกันภัยอาจได้รับเงินคืนมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าเบี้ยประกันส่วนที่จัดสรรเข้ากองทุนรวม"
(2) คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในหน่วยลงทุน
(3) คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวมนั้น
(4) คำเตือนเกี่ยวกับสถานะของกองทุนรวมว่าเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการ
ซึ่งผลการดำเนินงานของกองทุนรวมควบกรมธรรม์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทจัดการ
(5) คำเตือนในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยปฏิเสธการให้ข้อมูลส่วนตัวหรือการให้ข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นปัจจุบัน
หรือไม่ครบถ้วน ผู้เอาประกันภัยอาจได้รับคำแนะนำที่ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์
ฐานะทางการเงิน หรือความต้องการของผู้เอาประกันภัย
เนื่องจากคำแนะนำที่ให้นั้นได้พิจารณา
จากข้อมูลเพียงเท่าที่ผู้เอาประกันภัยเปิดเผยให้ทราบ
- คำเตือน ในข้อ 3(1) ต้องเปิดเผยในใบคำสั่งซื้อ (ที่ลูกค้าลงนาม)
โดยมีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า
ตัวอักษรปกติและมีสีที่เน้นหรือเด่นกว่าจากอักษรปกติ

2. แจกหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้เอาประกันภัยควรทราบ
พร้อมกับใบจองซื้อหรือใบคำสั่งซื้อ
3. ต้องจัดให้มีและแจกคู่มือผู้เอาประกันภัย
หรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ในการขายกรมธรรม์
ซึ่งต้องใช้ภาษาที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ (รายละเอียดข้อมูล ภาคผนวก ก.)

3.3 การขายและการให้คำแนะนำเพื่อการขาย
1. ในการเสนอขายกรมธรรม์ unit link ทุกครั้ง
(1) เปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยแสดงเจตนาว่าต้องการจบการสนทนา
ก) ชื่อผู้ติดต่อ และชื่อของบริษัทประกันชีวิตที่ตนทำหน้าที่แทน พร้อมทั้งแสดงบัตร
ประจำตัวซึ่งจะต้องเป็นบัตรที่กรมการประกันภัยออกให้
ข) วัตถุประสงค์ในการติดต่อ
ค) สิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะแสดงเจตนาว่าไม่ต้องการรับการติดต่อ
ง) สิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะยกเลิกกรมธรรม์ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
(2) ห้ามมิให้ตัวแทนเร่งรัดให้ผู้เอาประกันภัยตัดสินใจซื้อกรมธรรม์
และหากผู้เอาประกันภัยได้แสดง
เจตนาว่าไม่ต้องการซื้อกรมธรรม์หรือต้องการจบการสนทนา ให้หยุดการเสนอขายทันที
(3) ห้ามมิให้ติดต่อกับผู้เอาประกันภัยที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของผู้เอาประกันภัยที่ไม่ต้องการรับ
การติดต่อ ภายในระยะเวลา 2 ปี
(4) บริษัทจัดการต้องให้สิทธิผู้เอาประกันภัย ถอนการแสดงเจตนาได้
ภายในระยะเวลา ดังนี้
ก) กองทุนที่อยู่ในช่วง IPO :
ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิยกเลิกคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนได้ ภายใน
ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 วันทำการนับแต่วันที่ระบุในใบจองซื้อ
โดยได้รับเงินคืนเต็มจำนวนและไม่เสียค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุนหรือค่าใช้จ่ายใด

ข) กองทุนที่อยู่หลัง IPO :
ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิยกเลิกคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนได้ ภายใน
ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 วันทำการนับแต่วันที่ระบุในใบคำสั่งซื้อ
โดยได้รับคืนตามราคา NAV ณ
วันทำการรับซื้อคืนวันแรกถัดจากวันแสดงเจตนาขายคืนหน่วยลงทุน และ
ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน
(5) ห้ามมิให้ตัวแทนเรียกเก็บหรือรับค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนจากผู้เอาประกันภัยนอกเหนือจากที่ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องชำระตามที่กรมธรรม์หรือหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมกำหนด
2. ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้คำแนะนำ (รายละเอียดข้อมูล ภาคผนวก ข.)
3. กรณีเป็นการบริการซื้อขายผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ปฏิบัติเป็นไปตามประกาศว่าด้วย
หลักเกณฑ์ และวิธีการในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

4. การควบคุม

- ให้บริษัทประกันชีวิตจัดทำคู่มือสำหรับตัวแทนขายประกันกรมธรรม์ unit
link เพื่อให้พนักงานและ
ตัวแทนทราบว่าต้องปฏิบัติอย่างไรในการเสนอขายกรมธรรม์ unit link
และต้องดูแลให้พนักงานและ
ตัวแทนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
- บริษัทประกันชีวิตที่ได้รับความเห็นชอบ ต้องจัดทำรายงาน
การเริ่มหยุดการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขายกรมธรรม์
และการแต่งตั้งหรือยกเลิกตัวแทนสนับสนุนช่วง ให้กรมการประกันภัยทราบ
- ตัวแทนสนับสนุนการขายกรมธรรม์ unit link
ต้องจัดให้มีระบบรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีที่เป็นการร้องเรียนด้วยวาจา
ให้จัดทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและให้ผู้เอาประกันภัย
ลงนามเพื่อรับรองความถูกต้องก่อนตัวแทนสนับสนุนจะดำเนินการแก้ปัญหา
2. ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนโดยเร็ว
3. แจ้งข้อร้องเรียนให้บริษัทจัดการทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน
4. เมื่อมีข้อยุติให้แจ้งลูกค้าทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีข้อยุติ
5. เมื่อมีข้อยุติ ให้แจ้งผลการดำเนินการที่สามารถแก้ไข
หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหา ให้เป็นที่พอใจ
ของผู้ร้องเรียนแก่บริษัทจัดการ เพื่อดำเนินการต่อภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีข้อยุติ
6. สรุปจำนวนข้อร้องเรียนที่สามารถแก้ไขและไม่สามารถแก้ไข
เป็นหมวดหมู่ของข้อร้องเรียนและ

แจ้งให้กรมการประกันภัยทราบเป็นรายไตรมาสภายใน 15
วันนับแต่วันสิ้นไตรมาสนั้น
7. จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องและการดำเนินการไม่น้อยกว่า 2
ปีนับแต่วันที่มีข้อยุติ

5. ขอบเขตการทำหน้าที่ของบริษัทประกันชีวิต และความรับผิดชอบของบริษัทจัดการ

ในการเสนอขายกรมธรรม์ unit link
บริษัทประกันชีวิตเป็นตัวแทนของบริษัทจัดการตามมาตรา 100
เพื่อรับคำสั่งซื้อหรือขายหน่วยลงทุนจากผู้เอาประกันภัยส่งให้บริษัทจัดการ
หากบริษัทประกันชีวิตไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยชื่อผู้เอาประกันภัยให้บริษัทจัดการทราบ
บริษัทประกันชีวิตอาจใช้รหัสแทนชื่อจริงของผู้เอาประกันภัยแต่ละรายได้
เช่น การใช้ชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ว่า "ผู้เอาประกันภัยกรมธรรม์ unit link
เลขที่ 001" แทนชื่อ "นาย ก" เป็นต้น อย่างไรก็ดี
บริษัทประกันชีวิตไม่สามารถกระทำการใด ๆ
ในฐานะตัวแทนของผู้เอาประกันภัยได้
และหากบริษัทประกันชีวิตจะใช้รหัสแทนชื่อจริงของผู้เอาประกันภัยกับบริษัทจัดการ
บริษัทประกันชีวิตจะต้องมีระบบความพร้อม
ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการทำหน้าที่เป็นตัวแทนสนับสนุนการขายหน่วยลงทุนตามปกติ
เช่น ระบบการจัดทำบัญชี
ผู้ถือหน่วยลงทุนที่แท้จริง ระบบรองรับการออกมติของผู้เอาประกันภัย
ระบบการนำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการ
จัดการกองทุนให้ผู้เอาประกันภัย เป็นต้น
ลักษณะของการเปิดบัญชี
หรือการส่งคำสั่งซื้อ/ขายหน่วยลงทุนของบริษัทประกันชีวิตถึง
บริษัทจัดการจะต้องทำแยกเป็นรายผู้เอาประกันภัย (แยกแต่ละรหัส)
ไม่สามารถรวมคำสั่งซื้อหรือขายเป็น 1 คำสั่งได้
และการสั่งซื้อหน่วยลงทุนในแต่ละปีหรือแต่ละครั้งของการจ่ายเบี้ยของผู้เอาประกันภัย
จะเป็นไปตามคำสั่งซื้อ
ที่ผู้เอาประกันภัยมีคำสั่งไว้ตามข้อกำหนดในสัญญากรมธรรม์ unit link
ทั้งนี้ บริษัทจัดการยังคงต้องรับผิดชอบต่อการทำหน้าที่ของบริษัทประกันชีวิตในฐานะตัวแทน
ของบริษัทจัดการ เช่น กรณีเกิดเหตุเสียหายกับผู้เอาประกันภัย
หรือจำนวนหน่วยลงทุนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับ
ไม่ถูกต้อง ดังนั้น
การทำสัญญาระหว่างบริษัทจัดการกับบริษัทประกันชีวิตอาจต้องมีความรอบคอบมากขึ้น
โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการรับมอบอำนาจทั่วไปที่ยังไม่ครอบคลุมการมอบอำนาจในบางเรื่อง

6. การให้ความเห็นชอบผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนกรมธรรม์ unit link
หรือเป็นตัวแทนสนับสนุน
6.1 มีคุณสมบัติ
บุคคลธรรมดา: วุฒิการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรี
หรือประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี และผ่านการทดสอบตาม
หลักสูตรที่สำนักงาน ก.ล.ต. หรือกรมการประกันภัยให้ความเห็นชอบ -
ซึ่งในเบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ผ่านการทดสอบตามหลักสูตรผู้วางแผนการลงทุน
(IP)
นิติบุคคล: มีระบบงานและบุคลากรที่มีความพร้อม และมีผู้บริหารที่ซื่อสัตย์สุจริต
ก) กรณีที่มิได้ปกปิดชื่อจริงของผู้เอาประกันภัย
1. ระบบการรับลูกค้า วิธีการรับลูกค้า และการให้คำแนะนำ -
รวมถึงระบบที่มั่นใจได้ว่าลูกค้ามีความเข้าใจในการทำกรมธรรม์ unit link
2. ระบบการรับคำสั่งซื้อขายจากพนักงานในสังกัดและส่งคำสั่งซื้อขายให้บริษัทจัดการ
3. ระบบการนำส่งเงินค่าขายหน่วยลงทุนให้บริษัทจัดการ
และระบบการนำส่งเงินค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนให้ลูกค้า
4. ระบบการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการเก็บรักษาความลับของลูกค้า
5. ระบบการรับเรื่องร้องเรียน
ข) กรณีปกปิดชื่อจริงของผู้เอาประกันภัย
- มีความพร้อมของระบบงานตามข้อ ก) และระบบเพิ่มเติม ดังนี้
1. ระบบการจัดทำบัญชีผู้ถือหน่วยลงทุนที่แท้จริง
2. ระบบรองรับการออกมติของผู้เอาประกันภัย
3. ระบบการนำส่งข้อมูล รับ
/ส่งเอกสารหรือรายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุน
ให้ผู้เอาประกันภัย

6.2 ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด
6.3 บุคคลธรรมดาต้องเข้ารับอบรม refresher course อย่างน้อย 1 ครั้งภายในช่วง 2 ปี

ภาคผนวก
ก. คู่มือผู้เอาประกันภัย หรือเอกสารอื่นใดที่ใช้ในการขายกรมธรรม์ มีข้อมูล ดังนี้
: สิทธิของผู้เอาประกันภัย
1. สิทธิของผู้เอาประกันภัยในการยกเลิกการทำกรมธรรม์ในเวลาที่กำหนด เช่น
รายละเอียดที่หากลูกค้า
บอกยกเลิกการทำกรมธรรม์ในระยะเวลาที่กำหนดแล้วจะได้เงินคืนในลักษณะอย่างไร
(ตัวอย่างที่หมายเหตุ)
2. สิทธิในการรับทราบการจัดสรรเบี้ยประกันในการลงทุนในกองทุนรวม
3. สิทธิในการขอรับหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลรายละเอียดโครงการจากตัวแทน
4. สิทธิในการได้รับทราบรายชื่อของบริษัทจัดการทุกแห่งที่รับจัดการกองทุนรวมควบกรมธรรม์ที่
เสนอขายโดยบริษัทประกันชีวิตนั้น
5. สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ ของบริษัทจัดการ
บริษัทประกันชีวิต รวมทั้งชื่อ
ที่อยู่ และเลขประจำตัวของตัวแทน
6. สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหน่วยลงทุนที่ได้รับคำแนะนำเพื่อซื้อหน่วยลงทุนนั้น
ตลอดจนรับทราบคำเตือนและคำอธิบายเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในหน่วยลงทุน
7. สิทธิในการได้รับทราบข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยหรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน
เช่น การขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการควบกองทุนรวมหรือการรวมกองทุนรวม
เป็นต้น
8. สิทธิในการได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น
ค่าธรรมเนียมหรือผลตอบแทนที่ตัวแทนอาจได้รับจากการซื้อกรมธรรม์
รวมทั้งการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน เป็นต้น
9. สิทธิในการแสดงเจตนาว่าไม่ต้องการรับการติดต่ออีกเป็นระยะเวลา 2 ปี
: การรับข้อร้องเรียนของผู้เอาประกันภัย
10. วิธีการรับข้อร้องเรียน
11. สถานที่รับข้อร้องเรียนของผู้เอาประกันภัย - บริษัทประกันชีวิต กรมการประกันภัย

หมายเหตุ: ตัวอย่างที่ 1 :
บริษัทจัดการแห่งหนึ่งตกลงกับบริษัทประกันชีวิต
ว่าจะนำเบี้ยส่วนที่เป็นเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปลงทุนในวันที่ระบุในใบจองซื้อ
(หรือใบคำสั่งซื้อ)
หน่วยลงทุนซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ผู้เอาประกันภัยลงนามในการทำสัญญากรมธรรม์
unit link โดยให้สิทธิผู้เอาประกันภัยยกเลิกถอนการแสดงเจตนาได้ภายในระยะเวลา
2 วันนับแต่วันที่ระบุในใบจองซื้อ (หรือใบคำสั่งซื้อ)
ในขณะที่บริษัทประกันชีวิตต้องใช้เวลาพิจารณาผู้เอาประกันภัยอีก 12
วันก่อนส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกันภัย
ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถยกเลิกและขอคืนค่าเบี้ยประกันได้ภายใน 15
วันนับแต่วันส่งมอบกรมธรรม์ ดังนั้น
การแสดงรายละเอียดให้ลูกค้าทราบถึงสิทธิอาจใช้ตาราง ดังนี้
ระยะเวลา ส่วนที่ 1 เงินค่าประกัน ส่วนที่ 2 เงินลงทุนในกองทุนรวม
ยกเลิกภายใน 2 วันนับแต่วันที่ในใบจองซื้อ(หรือใบคำสั่งซื้อ) เต็มทั้งจำนวน -
กรณีลงทุนในช่วง IPO: เต็มทั้งจำนวน
- กรณีลงทุนในช่วงหลัง IPO: ราคา NAV (ไม่คิดค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน)
ยกเลิกภายใน 15 วันตั้งแต่วันได้รับกรมธรรม์ เต็มทั้งจำนวน ราคา NAV หัก
ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน
ยกเลิกภายหลัง 15 วันตั้งแต่วันได้รับกรมธรรม์ จำนวนเบี้ย หัก
ค่าดำเนินการของบริษัทประกันชีวิต ราคา NAV หัก ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน

ตัวอย่างที่ 2 : บริษัทจัดการแห่งหนึ่งตกลงกับบริษัทประกันชีวิต
ว่าจะนำเบี้ยส่วนที่เป็นเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปลงทุน
ในวันที่ระบุในใบจองซื้อหน่วยลงทุนซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่บริษัทประกันชีวิตอนุมัติการทำกรมธรรม์
โดยให้สิทธิ
ผู้เอาประกันภัยยกเลิกถอนการแสดงเจตนาได้ภายในระยะเวลา 2
วันนับแต่วันที่ระบุในใบจองซื้อ
ในขณะที่บริษัทประกันชีวิตใช้เวลาพิจารณาผู้เอาประกันภัย 10
วันก่อนส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกันภัย
และผู้เอาประกันภัยสามารถยกเลิกและขอคืนค่าเบี้ยประกันได้ภายใน 15
วันนับแต่วันส่งมอบกรมธรรม์ ดังนั้น
การแสดงรายละเอียดให้ลูกค้าทราบอาจเป็น ดังนี้
แสดงรายละเอียดกรณียกเลิกการทำกรมธรรม์ unit link
ส่วนที่ 1 : ค่าเบี้ยประกันสำหรับการให้ความคุ้มครอง -
หากแจ้งให้ตัวแทนทราบภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับกรมธรรม์
ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเต็มทั้งจำนวน
ส่วนที่ 2 : เงินลงทุนที่จัดสรรเป็นเงินลงทุนในกองทุนรวม
ก) หากแจ้งให้ตัวแทนทราบภายใน 2 วันนับแต่วันที่กรมธรรม์ได้รับอนุมัติ
ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเต็ม
ทั้งจำนวน (กรณีลงทุนในกองทุนช่วง IPO) หรือได้รับคืนที่ราคา NAV
(ไม่คิดค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน - กรณีลงทุน
ในกองทุนช่วงหลัง IPO)
ข) หากแจ้งให้ตัวแทนทราบภายหลังจากข้อ ก)
ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนที่ราคา NAV หัก ค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน

ข. มาตรฐานในการให้คำแนะนำ
1. ให้คำแนะนำด้วยความสุจริต เป็นธรรม
รวมทั้งใช้ความระมัดระวังเอาใจใส่ในการให้คำแนะนำ
โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ
2. ให้คำแนะนำตามหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับ
โดยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนรวมและมีเอกสาร
หลักฐานที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้
3. ให้คำแนะนำโดยอธิบายให้ผู้เอาประกันภัยทราบถึงลักษณะและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับหน่วยลงทุนของ
กองทุนรวมที่ให้คำแนะนำนั้น
4. ไม่นำข้อมูลของผู้เอาประกันภัยไปเปิดเผย
เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ตามกฎหมาย
5. เปิดเผยข้อเท็จจริงที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยหรือต่อการตัดสินใจ
ในการลงทุน
6. เปิดเผยให้ผู้เอาประกันภัยทราบถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เช่น
ค่าธรรมเนียมหรือผลตอบแทนที่ตัวแทนอาจได้รับจากการซื้อกรมธรรม์และ/หรือกองทุนรวม
7. ไม่ให้คำแนะนำซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
หรือละเว้นที่จะเปิดเผยข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจ
ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น
การรับประกันผลตอบแทนในกองทุนรวมที่มิได้มีลักษณะการประกันไว้เช่นนั้น
เป็นต้น หรือให้คำแนะนำโดยมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่น
8. ไม่ให้คำแนะนำในลักษณะที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ผู้เอาประกันภัยซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน
บ่อยครั้งหรือเกินกว่าสมควร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้รับค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใดจากการให้บริการการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าว
(กรณีตัวแทนได้รับผลประโยชน์ใด ๆ
จากการซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนของผู้เอาประกันภัย)