ในระยะนี้คำว่า "การเปิดเสรี"
จะเป็นคำที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นคำว่า
"การเปิดเสรีการค้า" และโดยเฉพาะ "การเปิดเสรีการค้าบริการ" ซึ่งรวมถึง
การเปิดเสรีสาขาการเงิน การธนาคาร และการประกันภัยด้วย
ทั้งนี้เพราะชาวโลกต่างรอคอยผลการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัย
ซึ่งได้ดำเนินการเจรจามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529
และยืดเยื้อเลยระยะเวลาออกมานาน โดยมีความคาดหวังว่าคงจะสามารถสรุปได้
ในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 นี้
โดยที่การประกันภัยเป็นบริการสาขาหนึ่งที่รวมอยู่ในสาขาการเงินและการธนาคาร
และการเป็นสาขาบริการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่พยายามผลักดันให้มีการเปิดเสรีมากขึ้น
จึงมีผลทำให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการประกันภัยต่างมีความห่วงใยว่า
ประเทศไทยจะเปิดเสรีประกันภัยแล้วหรือบ้างก็วิตกว่าจะเอาเรื่องประกันภัยไปแลกกับการค้าอื่นๆ
บทความนี้จึงมีความประสงค์จะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบภูมิหลังของการเจรจาการค้าบริการในรอบอุรุกวัย
วัตถุประสงค์การเจรจา สาระสำคัญในการเจรจา
การเสนอข้อผูกพันเบื้องต้นเรื่องการเปิดเสรีสาขาประกันภัย
ตลอดจนความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปิดเสรี
การเปิดเสรีควรเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ตลอดจนแนวทางหรือมาตรการที่ธุรกิจประกันภัย
ทั้งในภาครัฐบาลและเอกชนควรเตรียมการให้พร้อมที่จะแข่งขันกับต่างประเทศหากจะมีการเปิดเสรีสาขาประกันภัย
ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs
and Trade-GATT) ที่เรียกย่อๆว่า แกตต์
เป็นข้อตากลงที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมระบบการค้าเสรีภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและยุติธรรมในระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน
โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะลดการกีดกันทางการค้าในด้านภาษีศุลกากร
หรือมาตรการในรูปแบบต่างๆ
ข้อตกลงได้จัดทำขึ้นโดยประเทศภาคีสมาชิกเริ่มแรก 23 ประเทศ
เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2491 ปัจจุบันมีสมาชิก 117 ประเทศ
และประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2525
นับเป็นสมาชิกอันดับที่ 88
แกตต์เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับการค้าสินค้าระหว่างประเทศเท่านั้น
แต่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่ใช้กำกับการค้าบริการระหว่างประเทศ
ดังนั้นในการเจรจารอบอุรุกวัยประเทศพัฒนาโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
จึงได้ผลักดันให้รวมการเจรจาเรื่องการค้าบริการ
เพื่อให้มีกฎเกณฑ์ด้านการค้าบริการระหว่างประเทศ
ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
เมื่อเดือนกันยายน 2529
ประเทศสมาชิกแกตต์ได้เปิดการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบใหม่นับเป็นรอบที่ 8 ณ
เมืองปุนต้า เดล เอสเต้ (Punta del Este) ประเทศอุรุกวัย จึงเรียกว่า
รอบอุรุกวัย (Uruguay Round)
เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันยังมีการใช้มาตรการกีดกันการค้าในระดับต่างๆ
การเจรจาการค้าระหว่างประเทศมักจะใช้วิธีเจรจาแบบทวิภาคีนอกเวทีแกตต์
ทำให้ประเทศด้อยพัฒนาต้องเสียเปรียบเป็นเหตุให้การค้าระหว่างประเทศซบเซาลง
และมีแนวโน้มไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ
จากการประชุมระดับรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2529 ณ เมืองปุนต้า
เดล เอสเต้ กำหนดวัตถุประสงค์ของการเจรจารอบอุรุกวัยไว้ 4 ประการ คือ
1) เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีในขั้นต่อไป
และให้การค้าของโลกขยายต่อทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ระดับการพัฒนาต่ำ
รวมทั้งให้มีการปรับปรุงระบบการเข้าสู่ตลาด
โดยการลดหรือยกเลิกมาตรการกีดกันต่างๆ ทั้งมาตรการทางภาษีศุลกากร
การจำกัดปริมาณนำเข้า และมาตรการอื่นๆ
2) สนับสนุนบทบาทของแกตต์ให้มีความเข้มแข็ง
และเป็นที่ยอกรับกว้างขวางยิ่งขึ้น
เพื่อกำกับให้การค้าของโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎระเบียบของแกตต์
3) เพื่อให้ระบบของแกตต์สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้มากขึ้น
โดยการปรับปรุงระบบโครงสร้างของแกตต์ที่จำเป็น
เพิ่มบทบาทในด้านความสัมพันธ์กับองค์การระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งติดตามปัญหาของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์
ความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง
ซึ่งนับวันมีความสำคัญมากขึ้นตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางการค้าให้เอื้อต่อประเทศกำลังพัฒนาให้มีโอกาสเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
4) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการค้าและนโยบายทางเศรษฐกิจด้านอื่นที่จะมีผลต่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาและจะให้มีการปรับปรุงระบบการเงินของโลกให้เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา
การเจรจารอบอุรุกวัยนี้มีเรื่องที่เจรจารวมทั้งหมด 15 เรื่อง โดย 6
เรื่องจะเกี่ยวกับภาษีศุลกากร ข้อกำกับที่ไม่ใช่ภาษี
และเรื่องสินค้าเขตร้อน สินค้าเกษตร
สินค้าจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อีก 6
เรื่องจะเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ และมี 3 เรื่องที่เป็นเรื่องใหม่ คือ
สินค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุนและบริการ
การเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2529
หลายท่านคงสงสัยว่าทำไมจึงใช้เวลานานและยืดเยื้อเลยกำหนดไปมาก ทั้งนี้
เพราะ "การค้าบริการ" ครอบคลุมความหมายที่กว้างมาก
จึงต้องใช้ความพยายามที่จะร่างข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General
Agreement on Trade in Services GATS) ในลักษณะเดียวกับ GATT
ในอนาคตต่อไป การค้าบริการของโลกก็จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์
และข้อบังคับของข้อตกลง GATS
ซึ่งจะมีกลไกต่างๆที่ช่วยในการตัดสินใจและการระงับข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นด้วย
การเจรจาในการร่างข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 : เป็นการเจรจาร่างกรอบข้อตกลงทั่วไป (General Frame Work
Agreement) เป็นการกำหนดนิยาม ขอบข่ายความตกลง หลักการ กฎระเบียบต่างๆ
ที่สาขาบริการทุกสาขาต้องยึดถือปฏิบัติ
ส่วนที่ 2 : เป็นการเจรจาร่างข้อกำหนดหรือรายละเอียดเพิ่มเติมแนบท้ายจากกรอบ
ข้อตกลงทั่วไปของเฉพาะแต่ละสาขาบริการ (Sectoral Annex)
เพราะแต่ละสาขาบริการอาจมี
ข้อกำหนดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของบริการที่มิอาจจะยึดถือแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันได้
ส่วนที่ 3 : เป็นการจัดทำตารางเสนอข้อผูกพันสาขาบริการต่างๆ
และมีการเจรจาปรับปรุงจนกว่าจะเป็นที่พอใจของคู่เจรจา
แม้ว่าประเทศไทยจะตระหนักดีว่า อาจจะเสียเปรียบในการเข้าร่วมเจรจา
ในเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการที่ประเทศพัฒนาแล้วพยายามผลักดันให้เปิด
แต่ก็พิจารณาเห็นว่า จะมีประโยชน์ในระยะยาว
เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับสิทธิสำหรับสินค้าอื่นๆ
และเป็นการป้องกันมาตรการตอบโต้อื่นๆ หากประเทศไทยไม่รับข้อตกลง
ไทยจึงเข้าร่วมเจรจาในเรื่องการค้าบริการตั้งแต่เริ่มมีการเจรจา
ในการเจรจาร่างความตกลงทั่วไปการค้าบริการนั้น
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2533
อนุมัติกรอบการเจรจาเพื่อทำความตกลงฯ ดังนี้
1) ความตกลงฯ จะต้องครอบคลุมการค้าบริการทุกสาขา
2) ในกรณีจำเป็นต้องเปิดการค้าเสรี ให้เจรจาแต่ละสาขาในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
3) ให้พิจารณาข้อเสียเปรียบในการเปิดเสรีคือ
การที่ประเทศไทยให้ผลการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)
แก่บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสหรัฐฯ โดยมิได้ให้แก่คนชาติอื่น
4) การนำหลักการของแกตต์มาใช้กับการค้าบริการ
จะต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละสาขาบริการด้วย
ในส่วนการจัดทำข้อเสนอตารางข้อผูกพัน
เพื่อเปิดตลาดการค้าบริการเป็นรายสาขานั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่
20 มกราคม 2535 ให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าบริการในแต่ละสาขาในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
ในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
กระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะทำงานการค้าบริการในกรอบของการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัย
โดยมีผู้แทนจากหน่วยราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพิจารณาจัดทำตารางข้อผูกพัน
เพื่อเจรจากับประเทศอื่น
โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกสาขาบริการที่จะผูกพันดังนี้
1) เป็นบริการที่กฎหมายไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการได้โดยเสรีอยู่แล้ว
โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนกับคนไทยในอัตราส่วน 49:51
2) มีนโยบายค่อนข้างชัดเจนว่า จะยังใช้กฎหมาย ณ
ระดับปัจจุบันโดยไม่กำหนดเงื่อนไขกฎเกณฑ์เพิ่มเติมหรือออกกฎหมายใหม่ที่มีลักษณะเป็นข้อจำกัดการเข้าสู่ตลาดและการประติบัติเยี่ยงคนชาติต่อผู้ให้บริการต่างชาติ
3) มีมูลค่าการให้บริการทั้งในปัจจุบันและคาดว่าในอนาคตไม่สูงมาก
4) เป็นบริการที่คนไทยขาดศักยภาพ
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ
ให้ยื่นตารางข้อเสนอผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการครอบคลุมสาขาต่างๆ รวม
10 สาขา เป็นจำนวนกิจกรรมทั้งสิ้น 95 รายการ (เป็นของสาขาประกันภัย 6
รายการ) และรายการขอยกเว้นจากหลักการหลัก
ซึ่งเป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะทำงานการค้าบริการในกรอบของการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัย
ที่กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้ง
ซึ่งเป็นการผูกพันว่าไทยจะไม่ออกกฎระเบียบที่จำกัดการเข้าสู่ตลาดมากกว่าที่ระบุในตาราง
โดยแกตต์ได้กำหนดให้ทุกประเทศยื่นข้อเสนอการเปิดเสรีการค้าบริการและรายการขอยกเว้นจากหลักการ
MFN จากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 ออกไปเป็นวันที่ 9 ธันวาคม 2536
หลักการสำคัญๆ ของข้อตกลงการค้าบริการ
ร่างกรอบข้อตกลงการค้าบริการในส่วนที่หนึ่ง (General Frame Work
Agreement) ได้กำหนดหลักการแนวคิด และกฎระเบียบที่สำคัญๆ ดังนี้คือ
1. หลักความโปร่งใส (Transparency)
กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย
กฎระเบียบและแนวทางที่ฝ่ายบริหารกำหนดในเรื่องการค้าบริการ
รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการบริการที่ประเทศสมาชิกนั้นๆ
ร่วมเป็นสมาชิกอยู่
เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินธุรกิจการให้บริการในประเทศนั้นๆ
อีกทั้งประเทศสมาชิกจะต้องจัดตั้งศูนย์สอบถามข้อมูล (Enquiry point)
2. หลักการเปิดเสรีตามลำดับ (Progressive liberalization)
กำหนดกฎระเบียบ รูปแบบ
และขั้นตอนแนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีการเปิดเสรีอย่างเป็นขั้นตอน
รวมทั้งกำหนดให้มีการเจรจาต่อไปในรอบการเจรจาอื่นๆ หลังจากรอบอุรุกวัย
อนึ่ง ในการเปิดเสรีจะต้องให้ความเคารพต่อวัตถุประสงค์ทางด้านนโยบายแห่งชาติและระดับการพัฒนาของประเทศด้วย
3. หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment)
กำหนดให้ประเทศสมาชิกให้การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันแก่บริการหรือผู้ให้บริการของประเทศสมาชิกอื่นๆ
เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับผู้ให้บริการในประเทศของตนในภาวะการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
4. หลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่งและการไม่เลือกปฏิบัติ
(Most Favoured Nation)
กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องให้การปฏิบัติต่อบริการและผู้ให้บริการของคู่สัญญาทุกประเทศเท่าเทียมกันหมด
โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
ดังนั้นการให้สิทธิพิเศษหรือการปฏิบัติใดๆแก่ประเทศหนึ่งแล้ว
จะต้องให้สิทธิพิเศษหรือการปฏิบัติเช่นนั้นกับคู่สัญญาแกตต์ทุกประเทศในลักษณะเดียวกัน
5. หลักการเข้าสู่ตลาด (Market Access)
กำหนดให้การเข้าสูตลาดครอบคลุมรูปแบบของการเข้ามาเสนอบริการโดยธุรกิจต่างชาติ
รวมทั้งการเข้ามาของบุคลากรและปัจจัยการผลิตอื่นๆ
โดยจะต้องสอดคล้องกับหลักการอื่นๆ ทั้งนี้
เนื่องจากการบริโภคบริการจะมีขึ้นเฉพาะที่พรมแดนเท่านั้นไม่ได้
จำเป็นต้องมีการอนุญาตให้เข้าสู่ตลาดภายในประเทศด้วย
6. หลักการเพิ่มส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนา (Increasing Participation
of Developing Countries)
กรอบความตกลงฯ จะต้องมีบทบัญญัติที่เอื้ออำนวยให้การส่งออกบริการของประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงตลาดในประเทศคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมในข้อตกลงมากที่สุด
7. หลักการคุ้มกันและข้อยกเว้น (Safeguards and Exceptions)
กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีสิทธิในการใช้มาตรการคุ้มกันและข้อยกเว้น
เมื่อเกิดความจำเป็น เช่น เพื่อเหตุผลด้านดุลการชำระเงิน
และวัตถุประสงค์ด้านนโยบายแห่งชาติอื่นๆ
เพื่อให้ข้อตกลงมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
8. หลักการออกกฎหมาย (Regulatory
Situation)เนื่องจากรัฐบาลแต่ละประเทศยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการค้าบริการในประเทศตน
จึงมีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิของประเทศต่างๆ ในการออกกฎระเบียบใหม่ๆ
ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีภายใต้กรอบความตกลงฯ
นอกจากหลักสำคัญๆ ในกรอบตกลงทั่วไป ส่วนที่ 1
ดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีส่วนที่ 2
ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการค้าบริการแต่ละสาขา (Sectoral
Annex) เพื่อแนบท้ายกรอบข้อตกลงทั่วไป สาขาการเงิน
ก็มีข้อตกลงแนบท้ายด้วย (Annex on Financial Service)
โดยระบุคำนิยามการบริการภายใต้สาขาการเงินให้รวมถึงการประกันภัย
และการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย การธนาคาร
และการบริการการเงินต่างๆ ภายใต้สาขานี้
ประเด็นสำคัญของข้อตกลงสาขาการเงิน
ระบุให้แต่ละประเทศสมาชิกไม่ต้องถูกกีดกันที่จะให้รัฐมีอำนาจออกกฎระเบียบหรือมาตรการต่างๆ
เพื่อเหตุผลของความรอบคอบในการปกป้องผู้บริโภค
เพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงินในประเทศและประเทศสมาชิกต้องยอมรับมาตรการของแต่ละประเทศด้วย
ทั้งนี้เพราะสาขาการเงินเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
และความผาสุกของประชาชนในประเทศ
ฉะนั้น กรอบข้อตกลงการค้าบริการทั้งสองส่วนดังกล่าว
จึงมีจุดมุ่งหมายให้มีกฎระเบียบข้อบังคับและวินัยเกี่ยวกับการค้าบริการระหว่างประเทศ
เพื่อให้มีการขยายการค้าบริการ ภายใต้เงื่อนไขของหลักความโปร่งใส
หรือความเปิดเผยและการเปิดเสรีตามลำดับ
ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งหลาย
และเพื่อการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้
จะต้องไม่ละเมิดต่อกฎหมายและข้อบังคับภายในของแต่ละประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการค้าบริการและต้องคำนึงถึงขอบเขตความรับผิดชอบ
และการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แผนการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัย
กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อ 11 เมษายน 2538
เพื่ออนุญาตให้จัดตั้งบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยในประเทศเพิ่มขึ้น
โดยกำหนดเป็นระยะๆตามความเหมาะสม
กระทรวงพาณิชย์ให้ความเห็นว่าจากความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ
และการประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.
2535 ซึ่งกำหนดให้รถทุกคันในประเทศเข้าสู่การประกันภัยภาคบังคับ
ประกอบกับการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัยได้มีมติให้เปิดเสรีการค้าบริการ
ซึ่งรวมถึงการเปิดเสรีการประกันภัยด้วย
เพื่อให้สอดคล้องกับความเจริญเติบโตของธุรกิจประกันภัยของประเทศ
กระแสโลกาภิวัตน์และพันธกรณีของแกตต์
ทำให้ต้องปรับนโยบายการให้ประกอบธุรกิจประกันภัย
ทั้งการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัยให้มีความเสรีมากขึ้นกว่าเดิม
เพื่อให้สองคล้องกับความเจริญเติบโตของธุรกิจประกันภัยของประเทศ
อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค
และการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยให้มากขึ้น
ควรเป็นระบบค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
โดยมีขั้นตอนเป็นระยะ ดังนี้
1. ในระยะเริ่มแรก ควรอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทประกันภัยในประเทศเพิ่มขึ้น
ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายโดยได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาษิชย์
โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ
2. ในระยะกลาง ควรเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างประเทศให้สูงขึ้น
จากปัจจุบันในอัตราร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน
ให้เพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน
เพื่อให้ต่างประเทศสามารถเข้ามาถือสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจประกันภัยได้มากขึ้น
ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยการแก้ไข พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และ
พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
3. ในระยะยาว ควรอนุญาติให้บริษัทประกันภัยต่างประเทศเข้ามาประกอบกิจการหรือตั้งสาขาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ทั้งนี้
ต้องรอเวลาที่บริษัทประกันภัยมีความพร้อมที่จะแข่งขันได้
ซึ่งสามารถดำเนินการโดยได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสาขาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติ
เงื่อนไขเพื่อการจัดตั้งบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย
1. จะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
2. เงินทุนจดทะเบียน และเรียกชำระแล้ว
- ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท สำหรับธุรกิจประกันชีวิต
- ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัย
3. หุ้นที่ออก ต้องเป็นหุ้นสามัญ มูลค่าไม่สูงกว่าหุ้นละ 100 บาท
4. ตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาต ต้องมีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3
ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่ได้จำหน่ายแล้ว
5. ผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทจะต้องถือหุ้นในบริษัทรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ
25 ของทุนจดทะเบียน และจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ภายในระยะเวลา
3 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
เว้นแต่เป็นการโอนเพื่อพัฒนาธุรกิจ แต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 25
หรือเป็นการโอนทางมรดก
6. เมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาต
บริษัทจะต้องมีเงินวางประกันหรือธนาคารค้ำประกันในวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ
5 ของทุนจดทะเบียน
7. บริษัทประกันภัยที่ตั้งใหม่จะต้องไม่มีความสัมพันธ์ในเชิงการถือหุ้น
กรรมการและการบริหารกับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยที่มีอยู่เดิม
8. บริษัทประกันภัยที่จดทะเบียนในส่วนภูมิภาคจะได้รับการพิจารณาในลำดับแรก
9. บริษัทต้องแจ้งแนวนโยบายและแผนงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจประกันชีวิตหรือธุรกิจประกันวินาศภัย
แล้วแต่กรณีที่จะขอรับใบอนุญาต ทั้งระยะสั้นและระยะยาวไม่น้อยกว่า 5
ปีข้างหน้า
10. ผู้ที่ประสงค์จะตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
เพื่อรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต หรือธุรกิจประกันวินาศภัย
สำหรับปี 2538 ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งวางเงินประกันตามที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ภายใน
3 เดือนนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
11. เงื่อนไขอื่นๆที่ปรากฏในประกาศกระทรวง
ข้อผูกพันการเปิดเสรีการประกันภัย
ในส่วนที่สามของกรอบความตกลงการค้าบริการ
ประเทศสมาชิกจะต้องจัดทำตารางเสนอข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการ
ซึ่งประเทศไทยได้ยื่นเสนอข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการ 95 รายการ
เป็นของสาขาประกันภัย 6 รายการ โดยเลขาธิการแกตต์
ได้กำหนดรูปแบบการเสนอข้อผู้พันการเปิดเสรีตามคำจำกัดความการค้าบริการไว้
4 รูปแบบ (Mode of delivery) คือ
1) Cross-border supply หมายถึง การค้าบริการข้ามพรมแดน
โดยผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่างอยู่คนละประเทศ (ในกรณีการประกันภัย
ก็หมายความว่า บริษัทประกันภัยในประเทศอื่นสามารถออกกรมธรรม์ให้ผู้เอาประกันภัยในประเทศไทยได้
โดยไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานในประเทศไทย)
2) Consumption abroad หมายถึง การค้าบริการโดยผู้บริโภค
หรือผู้ใช้บริการทั้งบุคคลธรรมดา
หรือนิติบุคคลจากประเทศหนึ่งเข้าไปใช้บริการในอีกประเทศหนึ่ง (เช่น
ประชาชนหรือนิติบุคคลในประเทศไทยสามารถติดต่อซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัยในประเทศอื่นได้)
3) Commercial presence หมายถึง
การค้าบริการโดยผู้ประกอบการบริการจากประเทศหนึ่งเข้ามาจัดตั้งธุรกิจประกอบการในอีกประเทศหนึ่ง
(เช่น บริษัทต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย)
4) Presence of natural persons หมายถึง
การค้าบริการโดยบุคคลธรรมดาจากประเทศหนึ่งเข้าไปให้บริการในอีกประเทศหนึ่ง
(เช่น ผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย
รวมทั้งบุคลากรของกิจการที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาให้บริการในประเทศไทย)
การเข้าสู่ตลาดในประเด็นนี้ก็คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศนั่นเอง
ประเทศสมาชิกจะต้องยื่นเสนอผูกพันมาตรการที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการเข้าสู่ตลาด
(Limitation on Market Access) ของการค้าบริการทั้ง 4 รูปแบบ
ว่ามีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอะไรบ้างในการที่จะเข้าสู่ตลาดและการเข้าสู่ตลาดของการค้าบริการทั้ง
4 รูปแบบนั้น มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (Limitation
on National Treatment) อย่างไรบ้าง ต้องระบุให้ชัดเจน โปร่งใส
สำหรับสาขาประกันภัย 6 รายการ ที่ปรากฏในตารางเสนอข้อผูกพันของไทยมีดังนี้ คือ
1. Life Insurance Services (การประกันชีวิต)
2. Non-Life Insurance Services (การประกันวินาศภัย)
3. Insurance broking and agency Services (นายหน้าและตัวแทนประกันภัย)
4. Insurance consultancy services excluding pension consulting
services (ที่ปรึกษาด้านประกันภัยไม่รวมเรื่องบำนาญ)
5. Average and loss adjustment services (ผู้ประเมินภัย)
6. Actuarial services (คณิตศาสตร์ประกันภัย)
ข้อเสนอผู้พันด้านประกันภัยสาขาต่างๆ
ได้ยึดหลักการว่าสามารถปฏิบัติได้อยู่แล้วตามกฎระเบียบ
และการปฏิบัติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และใช้หลักความระมัดระวังให้มากที่สุด
เพื่อไม่ให้ผูกมัดประเทศเกินขอบเขตอันอาจทำให้กระทบกระเทือนต่อธุรกิจประกันภัยในประเทศ
โดยตระหนักว่าธุรกิจประกันภัยในประเทศยังไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะแข่งขันได้กับประเทศพัฒนาแล้วต้องมีการเปิดเสรี
จึงต้องจำกัดสาขาให้เฉพาะที่ สามารถทำได้อยู่แล้วเป็นฐานเบื้องต้น
และอาจตกลงในโอกาสต่อไป จึงได้เสนอข้อผูกพันด้านประกันภัย 6 รายการ
ตามปรากฏตามตารางดังนี้ คือ
จากตารางข้อเสนอผูกพันสาขาประกันภัยทั้ง 6 รายการ สรุปได้ดังนี้คือ
1. การประกันชีวิต :
ในด้านการเข้าสู่ตลาดไม่มีข้อห้ามหรือเงื่อนไขใดๆที่จะมีการบริการขายกรมธรรม์ข้ามพรมแดน
หรือประชาชนจะไปซื้อกรมธรรม์นอกประเทศ
แต่การจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจในประเทศขณะนี้อนุญาตเพียงให้ต่างชาติมาร่วมหุ้นกับบริษัทประกันภัยที่มีอยู่แล้วในประเทศ
โดยต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% ของทุนจดทะเบียน
และไม่ผูกมัดว่าจะให้ใบอนุญาตเปิดบริษัทใหม่
บุคลากรจากต่างประเทศที่จะเข้ามาให้บริการในประเทศอนุญาตให้เฉพาะผู้บริหารระดับอาวุโส
ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ
โดยต้องได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนประกันชีวิต
2. ประกันวินาศภัย :
ในด้านการเข้าสู่ตลาดในรูปแบบขายบริการข้ามพรมแดนนั้น
ยกเว้นให้ทำได้เฉพาะการประกันภัยการขนส่งทางเรือและทางอากาศระหว่างประเทศ
และการประกันภัยต่อทุกประเภทเท่านั้น
ส่วนการจัดตั้งบริษัทในประเทศมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับการประกันชีวิต คือ
ร่วมหุ้นกับบริษัทในประเทศ โดยต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 25%
ของทุนจดทะเบียน
การเคลื่อนย้ายบุคลากรก็มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับการประกันชีวิต
3. นายหน้าและตัวแทนประกันภัย : ภายใต้พระราชบัญญัติประกันชีวิต
และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย ห้ามมิให้ผู้ใดชักชวน
แนะนำหรือกระทำด้วยประการใดๆ
เพื่อให้บุคคลทำสัญญาประกันภัยกับผู้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต-ประกันวินาศภัยในต่างประเทศ
นอกจากการทำสัญญาประกันภัยต่อ จึงต้องระบุข้อกำหนดดังกล่าวไว้
ส่วนการเข้าสู่ตลาดนั้น
อนุญาตให้เฉพาะกรณีจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจนายหน้า
โดยมีผู้ถือหุ้นต่างชาติได้ไม่เกิน 25%
การเคลื่อนย้ายบุคลากรมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัย
และไม่อนุญาตให้ต่างชาติเป็นตัวแทนนายหน้า บุคคลธรรมดา
(ธุรกิจตัวแทนและนายหน้าทุกประเภท ซึ่งรวมทั้งตัวแทนรายหน้าประกันภัย
เป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 พ.ศ.
2521)
4. ที่ปรึกษาด้านประกันภัยไม่รวมเรื่องบำนาญ :
การเข้าสู่ตลาดไม่มีเงื่อนไขใดๆในรูปแบบการบริการข้ามพรมแดน
หรือการไปใช้บริการในต่างประเทศ
แต่หากจะเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศจะต้องจัดตั้งนิติบุคคล
โดยมีผู้ถือหุ้นต่างชาติถือหุ้นไม่เกิน 49%
ของทุนจดทะเบียนและจำนวนผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
(ตาม ปว. 281) การเคลื่อนย้ายบุคลากรก็คงอนุญาตเฉพาะผู้บริหารระดับอาวุโส
ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนประกันภัย
5. ผู้ประเมินภัย : มีข้อเสนอผูกพันเช่นเดียวกับข้อ 4
6. คณิตศาสตร์ประกันภัย : มีข้อเสนอผูกพันเช่นเดียวกับข้อ 4
ข้อเรียกร้องจากประเทศคู่เจรจา
ในการเจรจาข้อเสนอผูกพันการเปิดเสรีสาขาประกันภัยประเทศคู่เจรจา
โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป แคนาดา
ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลี และสวิตเซอร์แลนด์
ยังเรียกร้องในประเด็นสำคัญๆคือ
1. อนุญาตให้ต่างประเทศเข้ามาจัดตั้งสาขาบริษัทประกันภัยได้เพิ่มขึ้น
(เพิ่มใบอนุญาตใหม่)
2. ให้เพิ่มอัตราส่วนผู้ถือหุ้นให้มากกว่า 25%
ทั้งในบริษัทประกันภัยและบริษัทนายหน้าประกันภัย
ผลกระทบจากการเปิดเสรีการประกันภัย
ผลกระทบในระยะสั้น
หากข้อเสนอผูกพันเบื้องต้นของไทยเป็นที่ตกลงยอมรับในการเจรจารอบอุรุกวัยนี้
ผลกระทบในระยะแรกๆจะไม่รุนแรงนัก
เพราะข้อเสนอทั้งหมดสามารถปฏิบัติได้อยู่แล้วตามกฎระเบียบให้เข้มข้น
หรือจำกัดการเข้าสู่ตลาดของประเทศสมาชิกอีกไม่ได้
แต่จากการนำเรื่องการค้าบริการมาเจรจา
และการเสนอข้อผูกพันในสาขาประกันภัยต่างๆ
ทำให้ต่างประเทศได้ทราบกฎระเบียบที่โปร่งใสมากขึ้น
จึงทำให้สนใจที่จะเข้าสู่ตลาด (market access) มากขึ้นไม่ว่าจะในรูปแบบใด
ฉะนั้น ในระยะสั้นๆ นี้อาจไม่มีผลกระทบมากนัก
ผลกระทบในระยะยาว
จากความกดดันที่ประเทศพัฒนากำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้
ที่จะให้เปิดตลาดมากขึ้น ยอมให้มี Market Access ในลักษณะ Commercial
Presence คือให้มาจัดตั้งสาขาในประเทศไทยหรือมาจดทะเบียนในประเทศไทย
และให้ขยายอัตราส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติที่กำหนดในขณะนี้ไม่เกิน 25%
ให้มากกว่านี้อีก
ซึ่งแนวโน้มในอนาคตการเปิดเสรีให้ธุรกิจมีการแข่งขันโดยเสรีมากที่สุดย่อมเป็นสิ่งที่ถูกตั้องตามหลักวิสาหกิจเสรี
และให้ธุรกิจเป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปมานตามธรรมชาติย่อมจะเกิดผลดีต่อประชาชนผู้บริโภค
ซึ่งรัฐบาลจะต้องปรับนโยบายให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและทันต่อการแข่งขันของโลก
สำหรับประเทศไทยอาจจะขอสงวนการเจรจาว่าจะมีการเปิดเสรีตามลำดับ
(Progressive Liberalization)
โดยอ้างสภาพประเทศกำลังพัฒนาต้องขอโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ
ต่อไป ซึ่งก็จะสอดคล้องกับกรอบความตกลงในหลัก Increasing Participation
of Developing Countries
อย่างไรก็ตามในขั้นปรับตัวนี้ก็จะมีผลกระทบต่อเรื่องสำคัญๆ โดยสรุปดังนี้คือ
ผลกระทบต่อบริษัทประกันภัย :
ในปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยรวม
75 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย 70 บริษัท
และเป็นสาขาบริษัทต่างประเทศ 5 บริษัท ประกอบธุรกิจประเภทต่างๆ ดังนี้คือ
ประเภทของธุรกิจ จดทะเบียนในประเทศ สาขาบริษัทต่างประเทศ รวม
วินาศภัย
ชีวิต
ชีวิตและวินาศภัย
ประกันสุขภาพ
ประกันภัยต่อ 52
7
4
6
1 4
-
1
-
- 56
7
5
6
1
รวม 70 5 75
จำนวนบริษัทประกันภัยดังกล่าวนับว่ามีจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศ
และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนบริษัทประกันภัยในประเทศอาเซียน
และประเทศที่เป็นนายหน้าการประกันภัยในภาคเอเซีย
ซึ่งมีการพัฒนาด้านประกันภัยมากและมีแนวโน้มจะเป็นผู้นำระดับต้นๆในธุรกิจประกันภัยโลก
เปรียบเทียบจำนวนบริษัทในกลุ่มประเทศอาเซียน
ประเทศ
ประเภทธุรกิจ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน
วินาศภัย
ชีวิต
ชีวิต & วินาศภัย
ประกันภัยต่อ 62
7
5
1 90
46
4
4 48
5
13
1 92
22
2
4 91
8
6
36 18
4
2
-
รวม 75 144 67 120 141 24
เปรียบเทียบจำนวนบริษัทในประเทศอาเซียน
ประเทศ
ประเภทธุรกิจ ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ปากีสถาน
ชีวิต
วินาศภัย
ประกันภัยต่อ 26
23
1 32
14
1 30
57
4 48
185
4 3
52
1
รวม 50 47 91 237 56
จำนวนบริษัทประกันภัยไทยในประเทศไทยนอกจากจะมีจำนวนมากแล้ว
ส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กมีความสามารถในการรับประกันภัยค่อยข้างต่ำ
การกระจุกตัวของธุรกิจจะอยู่ในบริษัทใหญ่ๆไม่กี่บริษัท
ในจำนวนบริษัทประกันชีวิตทั้ง 12 บริษัท
ส่วนแบ่งตลาดในเบี้ยประกันชีวิตรายปีกว่าร้อยละ 50 อยู่ใน 5 บริษัทแรก
และสาขาบริษัทต่างประเทศบริษัทเดียว คือ
สาขาบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด
มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 47
ฉะนั้นหากมีการเปิดเสรีมากขึ้นและอนุญาตให้บริษัทต่างประเทศมาจัดตั้งบริษัทประกอบธุรกิจประกันชีวิตมากขึ้น
จะกระทบต่อบริษัทไทยที่มีอยู่ในขณะนี้อย่างมาก เพราะ
ขณะนี้ซึ่งมีสาขาบริษัทต่างประเทศบริษัทเดียวได้ส่วนแบ่งตลาดแล้วถึง 47%
ฉะนั้นหากเพิ่มบริษัทอีก บริษัทขนาดเล็กก็จะประสบปัญหาหนักขึ้น
และยังไม่อยู่ในสภาพที่จะแข่งขันได้
เพราะบริษัทต่างประเทศมีระบบการรับประกันภัย
และเครือข่ายการบริหารกว้างขวาง
มีประสบการณ์ที่ดีกว่าทำให้สามารถลดต้นทุนได้
จึงมักจะประสบผลกำไรจากการดำเนินงานมากกว่าบริษัทในประเทศไทย
เฉพาะบริษัทไทยเองก็มีขนาดแตกต่างกันมากทั้งด้านเงินทุนจดทะเบียนและเบี้ยประกันภัย
บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุดมี 350 ล้านบาท
และบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำสุดมีเพียงจำนวน 3 ล้านบาท เท่านั้น
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะให้ความคุ้มครองบริษัทไทยอีกระยะหนึ่ง
ให้มีขีดความสามารถในการรับประกันภัย
มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพในการแข่งขันมากกว่านี้
แต่ก็ไม่ควรจะปิดตลาดทีเดียวควรให้โอกาสเปิดเสรีโดยการให้ต่างชาติเข้ามาร่วมหุ้น
(Joint Venture)
ปัจจุบันโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทประกันชีวิตปรากฎว่าในจำนวน 11
บริษัท มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยทั้งหมด 4 บริษัท
มีชาวต่างชาติร่วมหุ้นร้อยละ 24-25 อยู่ 4 บริษัท อีก 3 บริษัท
มีต่างชาติร่วมหุ้น ระหว่างร้อยละ 7-17
สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย 67 บริษัท
ก็มีความแตกต่างกันมากทั้งขนาดของเบี้ยประกันภัยและเงินทุนจดทะเบียน
การกระจุกตัวของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง ประมาณ 35% ของทั้งหมดเป็นของ 5
บริษัทแรก บริษัทที่มีเบี้ยประกันภัยรับมากกว่าพันล้าน มีเพียง 3 บริษัท
ขนาดกลางคือ มีเบี้ยประกันภัยมากกว่า 200 ล้านขึ้นไป มีประมาณ 25 บริษัท
นอกนั้นยังมีขนาดเล็กขนาดเงินทุนจดทะเบียน 100ล้านขึ้นไป มีเพียง 10
บริษัท บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนต่ำสุดมีเพียง 2 ล้านบาทเท่านั้น
การร่วมทุนของต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในประเทศ จากร้อยละ 25 ขึ้นไป มี
10 บริษัท โดยบริษัทไพศาลประกันภัย จำกัด มีผู้ถือหุ้นต่างชาติสูงสุด
ร้อยละ 99.84
จากจำนวนบริษัทที่มีมาก
แต่มีขนาดเล็กและความสามารถในการรับประกันภัยมีขีดจำกัดที่ค่อนข้างต่ำ
การเปิดบริษัทเพิ่มขึ้นย่อมกระทบบริษัทเล็กๆ
จึงควรสนับสนุนเพียงให้ต่างชาติมาร่วมลงทุน
ถ้าเป็นไปได้ก็ร่วมลงทุนในบริษัทที่ยังเล็กๆอยู่ จะช่วยเพิ่มการลงทุน
ความสามารถในการรับประกันภัยเพิ่มความรู้และเทคโนโลยี
เพราะประเทศไทยขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านประกันวินาศภัย
อีกทั้งจะช่วยให้การติดต่อทำประกันต่อกับบริษัทต่างประเทศทำได้สะดวก
และไม่เสียเปรียบต่อบริษัทรับประกันต่อในต่างประเทศ
ผลกระทบต่อดุลการค้าบริการ
ปัจจุบันประเทศไทยต้องเสียดุลบริการด้านประกันภัยเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะดุลบริการการค้าประกันภัยสินค้าที่ส่งออกและนำเข้า
สาเหตุที่ขาดดุลบริการมาก เนื่องมาจากผู้นำเข้ามักจะซื้อสินค้าในราคา
C.I.F. จึงต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปด้วย ในขณะที่ผู้ส่งออกก็ขายในราคา
F.O.B. ซึ่งอาจเป็นเพราะความต้องการของผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าในต่างประเทศ
และเกิดความเคยชิน และความสะดวกที่ไม่ต้องจัดการเรื่องการประกันภัย
อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับการประกันภัย
รัฐจึงยังต้องสนับสนุนส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยในประเทศมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบการขาดดุลชำระเงินจากการพึ่งการประกันต่อต่างประเทศ
บริษัทประกันภัยในประเทศไทยยังต้องพึ่งการประกันต่อกับบริษัทต่างประเทศจำนวนมาก
ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศในรูปเบี้ยประกันต่อต่างประเทศจำนวนมาก
เช่นในปี 2534 ธุรกิจประกันชีวิตรับเงินเข้าจากต่างประเทศเพียง 35
ล้านบาท แต่ส่งออก 490 ล้านบาท
ในจำนวนที่ส่งออกนี้เป็นการส่งกำไรออกนอกราชอาณาจักรถึง 247 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจประกันวินาศภัย มีจำนวนรับเข้า 1,083 ล้านบาท ส่งออก 3,650
ล้านบาท เป็นค่าเบี้ยประกันต่อจำนวน 2,540 ล้านบาท หรือร้อยละ 69.8
ของจำนวนส่งออกทั้งหมด และในปี 2535
ธุรกิจประกันวินาศภัยเสียดุลการชำระเงินสูงยิ่งขึ้นอีก คือ รับเข้าเพียง
1,213 ล้านบาท และส่งออกจำนวน 4,421 ล้านบาท ขาดดุลถึง 3,208 ล้านบาท
ฉะนั้น หากมีการเปิดเสรีมากขึ้น
และบริษัทต่างประเทศเข้ามาในระยะแรกอาจนำเงินเข้ามาในประเทศ
แต่ในที่สุดก็จะส่งกำไรออกนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งสาขาบริษัทต่างประเทศจะอาศัยเครือข่ายการประกันต่อของบริษัทแม่
หรือ บริษัทในเครือที่อยู่ต่างประเทศมากขึ้น
ก็ย่อมทำให้สูญเสียเงินตราออกนอกประเทศมากยิ่งขึ้น
ผลกระทบต่อตัวแทนนายหน้าประกันภัย
ประเทศพัฒนาแล้วเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดเสรีในธุรกิจตัวแทนนายหน้ามากยิ่งขึ้น
ได้ทักท้วงเรื่องที่ตัวแทนนายหน้าต้องเป็นสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่
281 และกำหนดให้การประกอบนายหน้านิติบุคคลต้องจดทะเบียนในประเทศไทย
มีสัญชาติไทย จึงพยายามกดดันเรียกร้องให้ลดเงื่อนไขดังกล่าว
หากมีการเปิดเสรีในเรื่องตัวแทนมากขึ้น
จะกระทบกระเทือนต่อผู้ประกอบอาชีพนี้ที่เป็นคนไทยอย่างแน่นอน
และกระทบต่อดุลการชำระเงินของประเทศ ทำให้เงินตราไหลออกนอกประเทศมากขึ้น
เพราะบริษัทต่างชาติจะต้องส่งงานไปประกันต่อต่างประเทศมากขึ้น
และนำรายได้จากวิชาชีพส่งออกนอกประเทศ
บริษัทต่างชาติมีเครือข่ายในประเทศอื่นๆ
จึงได้เปรียบบริษัทนายหน้านิติบุคคลของไทยที่เป็นนายหน้าประกันต่อด้วย
และบริษัทต่างประเทศได้เปรียบในด้านความรอบรู้ในการประกันภัยแขนงต่างๆ
โดยเฉพาะรูปแบบใหม่ๆ
ผลกระทบต่อวิชาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
ผลกระทบต่อนักคณิตศาสตร์ประกันภัย :
ปัจจุบันนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในประเทศไทยยังมีจำกัดไม่พอเพียง
ข้อเสนอผูกพันของประเทศไทย
จึงยินดีให้มีการเคลื่อนย้ายบริการข้ามพรมแดนได้ ทั้งในด้านผู้บริการ
(Service Provider) และผู้บริโภค แต่ในด้าน Commercial Presence
ยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องวิชาชีพต่างๆ ตามประกาศคณะปฏิวัติ
ฉบับที่ 281 ซึ่งการใช้บริการจากนักคณิตศาสตร์ต่างชาติมากก็ทำให้ต้องสูญเสียค่าบริการออกนอกประเทศ
และหากเคยชินใช้แต่บริการต่างแประเทศ
นักคณิตศาสตร์ในประเทศที่เป็นคนไทยก็จะไม่สามารถทำงานตามวิชาชีพ
และขณะนี้ประเทศไทยก็เริ่มผลิตนักคณิตศาสตร์มากขึ้น
ซึ่งการเปิดเสรีมากขึ้นต่อไปอาจมีผลกระทบต่อวิชาชีพนี้ของคนไทยมากขึ้น
ผลกระทบต่อผู้สำรวจภัย ผู้ประเมินภัย :
ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ควบคุมผู้สำรวจภัย (Surveyor) และผู้ประเมินภัย
(Loss Adjuster) ทำให้มีปัญหาว่าผู้สำรวจภัยและผู้ประเมินภัย
ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญต่อธุรกิจประกันภัยขาดความอิสระไม่ประกอบอาชีพโดยใช้วิชาชีพ
และมีจรรยาบรรณที่ถูกต้อง คือ
อาจเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ว่าจ้าง เช่น
หากบริษัทประกันภัยเป็นผู้ใช้บริการก็อาจเข้าข้างทางบริษัทได้
โดยความถูกต้องแล้วอาชีพนี้ต้องมีความอิสระไม่ขึ้นต่อใครเพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง
เป็นธรรม และสอดคล้องตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัย ปัจจุบันผู้สำรวจภัย
ผู้ประเมินภัยในประเทศไทยยังเป็นบริษัทขนาดเล็กมีขีดความสามารถจำกัด
จึงยังอาศัยผู้สำรวจภัย และผู้ประเมินภัยจากต่างประเทศในบางกรณี
การเสนอข้อผูกพันจึงเปิดให้มีการใช้บริการข้ามชาติได้ คือมีทั้ง cross
border supply และ Consumption abroad
แต่การมาจัดตั้งบริษัทต้องเป็นไปตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281
การเปิดเสรีในด้านนี้มากขึ้นก็ย่อมต้องสูญดุลบริการ คือ
ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศในรูปค่าใช้บริการมากขึ้น
จึงควรต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้มีอาชีพสำรวจภัย
ผู้ประเมินภัยให้เป็นผู้มีความรู้ในวิชาการประกันภัย
วิชาการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และมีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
ผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัย : หากมีการเปิดเสรีมากขึ้น
ผู้เอาประกันภัยกับบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งไม่อาจแข่งขันได้กับบริษัทใหญ่
หรือสาขาบริษัทต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบกระเทือน
หากบริษัทนั้นขาดสภาพคล่อง การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็จะล่าช้า
ขาดบุคลากรประกันภัยก็จะทำให้การบริการล่าช้า
และหากถึงกับต้องเลิกกิจการผู้เอาประกันภัยก็จะได้รับผลกระทบกระเทือน
แต่หากในระยะยาวทุกบริษัทมีความพร้อมแข่งขันการเปิดเสรีมากขึ้นย่อมเป็นผลดีต่อประชาชนผู้เอาประกัน
เพราะผู้บริโภค หรือผู้เอาประกันภัย
สามารถมีโอกาสเลือกใช้บริการที่ดีได้มากขึ้น
เลือกความคุ้มครองที่เหมาะสมและจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยที่ต่ำ
เพราะผู้แข่งขันต้องมุ่งแข่งขันการให้บริการ การเสนอสินค้า
คือกรมธรรม์ในอัตราที่ต่ำ ฉะนั้นในวิสาหกิจเสรี
การให้มีการแข่งขันการค้าโดยเสรีตามธรรมชาติจะเกิดผลดีต่อผู้บริโภค
ผลกระทบต่อการจ้างงาน : หากมีการเปิดเสรีมากขึ้นย่อมมีการจ้างงานมากขึ้น
แต่โดยที่บุคลากรประกันภัยในประเทศไทยที่มีความรู้ความสามารถในวิชาการยังมีจำกัด
จึงต้องเร่งผลิตและพัฒนาคุณภาพบุคลากรให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งจะเกิดผลดีต่อทั้งธุรกิจ และประชาชนผู้เอาประกันภัย
ผลกระทบต่อการพัฒนาธุรกิจ : การเปิดเสรีให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุนมากขึ้น
หรือมาเปิดสาขา หรือจัดตั้งบริษัทเพิ่มขึ้นจะเป็นการโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ
เข้ามาในประเทศและเป็นตัวกระตุ้นให้บริษัทประกันภัยในประเทศเกิดการตื่นตัวในการจะปรับปรุงประสิทธิภาพ
ขีดความสามารถ และความมั่นคงเพื่อความสามารถในการแข่งขัน และการอยู่รอด
ตลอดจนการเป็นผู้นำธุรกิจในตลาด
ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในประเทศ
สรุปแล้วการนำเรื่องบริการการค้ามาเจรจาในรอบอุรุกวัยนี้
เป็นผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ทำให้อาศัยหลักการโปร่งใส (Transparency)
ของกรอบความตกลงช่วยให้ไทยได้ทราบ กฎ ระเบียบ เงื่อนไข
เครือข่ายข้อมูลต่างๆ ของนานาประเทศ
ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในประเทศมากยิ่งขึ้น
และเมื่อมีความพร้อมในการแข่งขัน
การเปิดเสรีการประกันภัยจะเกิดผลดีต่อประชาชนในที่สุด
แนวทางการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ผลกระทบต่างๆ ดังกล่าวไปแล้วนั้น พิจารณาบนสมมติฐานว่า
หากมีการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบโดยไม่มีเงื่อนไข
ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของประเทศพัฒนาแล้ว
ซึ่งต่างชาติสนใจจะเข้ามาประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศมาก
เพราะตลาดประกันภัยไทยเป็นตลาดที่มีระเบียบวินัย
ภัยส่วนใหญ่มีความเสียงค่อนข้างต่ำ จึงเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้
ฉะนั้นหากเปิดเสรีโดยไม่มีเงื่อนไขและต่างชาติเข้ามา
ในขณะที่บริษัทประกันภัยไทยยังไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะแข่งขันย่อมเกิดผลกระทบในทางลบมากกว่า
โดยที่รัฐบาลไทยตระหนักดีว่า
สภาพบริษัทในประเทศไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขันกับต่างประเทศได้
จึงได้ยื่นข้อเสนอผูกพัน
เพียงเท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้และเป็นที่แน่นอนว่าในการเจรจารอบอุรุกวัยนี้จะยังไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในประเทศ
แต่โดยที่ "การเปิดเสรี" เป็นสิ่งที่ย่อมจะเกิดขึ้น
และจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในที่สุด
จึงควรเตรียมแนวทางสำหรับการเปิดเสรีตามลำดับ
คืออย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมของปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการเปิดเสรีตามลำดับนั้นอาจทำได้หลายทาง เช่น
1. การอนุญาตให้เพิ่มบริษัทประกันภัยในประเทศเพิ่มขึ้น
โดยพิจารณาว่าควรให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตกี่บริษัท
บริษัทประกันวินาศภัยกี่บริษัท ในระยะเวลาใด เพราะนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525
กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้เพิ่มใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยเลย
ถ้าพิจารณาจำนวนบริษัทประกันภัยในขณะนี้
จะเห็นว่าอาจพิจารณาให้เพิ่มบริษัทประกันชีวิตได้อีก เพราะจำนวน 12
บริษัทในขณะนี้ก็ไม่มากนัก อีกทั้งตลาดธุรกิจประกันชีวิตยังมีอีกมาก
เพราะในปี 2535 อัตราส่วนผู้ทำประกันชีวิตมีเพียงประมาณ 7.7%
ของจำนวนประชากรเท่านั้น
จึงสามารถที่จะเพิ่มบริษัทได้ในขณะนี้โดยจะไม่กระทบบริษัทที่มีอยู่มากนัก
หากแต่จะเกิดผลดีในการกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันการบริการ
และเกิดการจ้างงาน การพัฒนาบุคลากรมากขึ้น
อีกทั้งเป็นการช่วยระดมเงินออมในรูปการประกันชีวิตมากขึ้น
สำหรับบริษัทประกันวินาศภัยนั้น ควรส่งเสริมให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น
เพราะขนาดบริษัทเล็กๆ และมีลักษณะเป็นครอบครัวยังมีจำนวนมาก
โดยการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นไทย หรือกระตุ้นให้มีต่างชาติมาร่วมหุ้น
ก็ย่อมเกิดผลดีทั้งในด้านการเพิ่มเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร
และรูปแบบใหม่ๆของการประกันภัย
หากมีการอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทใหม่
ควรจะกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทมีทุนจดทะเบียนที่สูงไว้
เพื่อให้บริษัทมีความมั่นคงในฐานะการเงิน เป็นการสร้างความเชื่อศรัทธา
อีกทั้งอาจกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ
ที่เสริมสร้างการระดมเงินทุนเพิ่มได้มากขึ้น
2. การเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติให้มากกว่าร้อยละ 25
ทั้งนี้จะต้องเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.
ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
ให้สะดวกต่อการพิจารณาเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนผู้ถือหุ้นให้สอดคล้องตามสภาพความจำเป็น
เช่น อาจระบุว่าเงื่อนไขการอนุญาตให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
หรือประกาศกระทรวงจะคล่องตัวมากกว่าการเพิ่มอัตราส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาตินั้น
อาจเพิ่มเป็นลำดับ เช่น ร้อยละ 30 ในเบื้องต้น เพิ่มเป็นร้อยละ 40
ในโอกาสต่อไป หรือเปิดกว้างไว้ แต่ห้ามไม่ให้เกินร้อยละ 49
การมีต่างชาติร่วมหุ้นเป็นการช่วยพัฒนาธุรกิจภายในประเทศให้มีเทคโนโลยีและรูปแบบประกันภัยใหม่ๆที่จะสามารถเทียบเคียงได้กับบริษัทในต่างประเทศต่อไป
3. การพิจารณาอนุญาติให้บริษัทต่างประเทศมาจัดตั้งสาขาได้
แต่ทั้งนี้ควรที่รัฐจะมีโอกาสตัดสินว่าจะให้บริษัทของประเทศใด
เพื่อให้เกิดการกระจายบริษัทของประเทศต่างๆ
แทนการกระจุกตัวอยู่เพียงชาติใดชาติหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันมาก
และผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้น
แต่หากเป็นไปได้ควรสนับสนุนให้มาจัดตั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศจะเหมาะสมกว่าเพื่อขจัดปัญหาเรื่องการประติบัติเยี่ยงคนชาติเว้นแต่รัฐจะมีนโยบายยกเลิกข้อห้ามมิให้สาขาบริษัทต่างประเทศจัดตั้งสาขาย่อยในประเทศได้
แต่ก็ควรอนุญาตโดยมีเงื่อนไข
เพื่อให้เกิดการกระจายการบริการสู่ประชาชนทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม แนวทางการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าว
คงต้องพิจารณาตามสภาวการณ์ที่เหมาะสมเป็นระยะๆไป
พร้อมกำหนดเงื่อนไขให้เหมาะสมตามสภาพขณะนั้นๆ
ส่วนการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบนั้น คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-10
ปีขึ้นไป เพื่อให้เวลาในการเตรียมพร้อมการแข่งขันอย่างสมบูรณ์
แนวทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัย
เพื่อการเตรียมพร้อมในการแข่งขันการเปิดเสรี
และเพื่อพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
ควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพร้อม จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน
โดยขอเสนอแนะแนวทางพัฒนาดังนี้คือ
แนวทางพัฒนาสำหรับบริษัทประกันภัย
บริษัทประกันภัยในฐานะผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาตัวเองและสร้างการเตรียมพร้อมในเรื่องต่างๆ
ดังนี้ คือ
1. การเสริมสร้างศรัทธาของประชาชน
การเสริมสร้างศรัทธาของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญมากประการหนึ่ง
ซึ่งบริษัทควรสร้างภาพพจน์ที่ดีให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือศรัทธา
โดยเฉพาะหากคนไทยมีความเป็นชาตินิยม ไม่ว่าการเปิดตลาดจะเสรีเพียงใด
จะมีต่างชาติเข้ามาประกอบการมากแค่ไหน
คนไทยก็ยังคงซื้อสินค้าไทยหรือใช้บริการของคนไทย
ดังเช่นตัวอย่างในบางประเทศที่เห็นแล้วว่าแม้จะถูกบังคับให้เปิดเสรีแต่หากชนในชาติมีความเป็นชาตินิยมผู้ประกอบการต่างชาติก็ไม่สามารถเข้ามายึดครองตลาดได้
ธุรกิจประกันภัยไทยก็เช่นเดียวกัน
แต่กาครที่จะให้คนไทยมีชาตินิยมก็ต้องเกิดจากความเชื่อถือศรัทธาที่ผู้ประกอบการจะสร้างขึ้นจนทำให้เขาเกิดความพอใจ
ติดใจ และไม่คิดเปลี่ยนใจไปทดลองของอื่นไธุรกิจประกันภัยนั้นเป็นที่ทราบดีแล้วว่ามีประโยชน์
โดยเฉพาะมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนในยามที่เขาเดือดร้อย
ฉะนั้นในขณะที่คนได้รับความสูญเสียทางการเงิน
หากธุรกิจประกันภัยจะรีบเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อน
และมีความทุกข์ใจหรือเสียใจในการสูญเสียบางอย่าง
และหากบริษัทประกันภัยยังเพิ่มความรำคาญใจอันอาจเกิดจากความล่าช้าในการบริการ
หรือการหน่วงเหนี่ยวการปฏิบัติที่เขารู้สึกว่าถูกเอาเปรียบในบางกรณี
ก็จะเป็นการสร้างความรู้สึกในทางลบต่อธุรกิจทันที
ความเชื่อถือศรัทธาก็จะหมดไป
ฉะนั้นจุดนี้จึงเป็นหัวใจที่สำคัญที่ผู้บริหารบริษัทประกันภัยจะต้องให้ความสนใจดูแลการปฏิบัติหน้าที่
การให้บริการ การพูดจาติดต่อลูกค้า
โดยให้เจ้าหน้าที่รีบออกไปสำรวจภัยทันทีที่ได้รับแจ้งอุบัติเหตุ
ดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยรวดเร็ว เป็นต้น
2. การเสริมสร้างความสามารถในการรับประกันภัย
บริษัทประกันภัยในขณะนี้มีจำนวน 75 บริษัท และเป็นสาขาบริษัทต่างประเทศ 5
บริษัท ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว
7 บริษัท เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจทั้งสองอย่าง 5 บริษัท
เป็นบริษัทประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย 56 บริษัท
และบริษัทที่รับประกันสุขภาพเท่านั้นอีก 6 บริษัท
และเป็นบริษัทประกันภัยต่อ 1 บริษัท
(สรุปบริษัทประกอบธุรกิจประกันชีวิตมี 12 บริษัท
และบริษัทประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย 67 บริษัท บริษัทประกันต่อ 1 บริษัท
จำนวนบริษัทที่ค่อนข้างมากนี้ ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กค่อนข้างมากด้วย
ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนการครองตลาดจะเป็นของกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ
ไม่กี่บริษัท ฉะนั้น
น่าที่จะมีการเพิ่มความสามารถในการรับประกันภัยมากขึ้น
โดยสร้างให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียน
การดำรงเงินกองทุนให้สูงและหากเป็นไปได้ บริษัทเล็กๆ
น่าจะรวมตัวกันโดยการควบเข้าเป็นบริษัทเดียวกัน
จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายคงที่ลงได้อีกมาก
ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อถือให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินมั่นคง
เพราะเป็นธรรมดาที่คนมักนิยมเชื่อถือบริษัทใหญ่มากกว่าบริษัทเล็ก
และทำให้สามารถแข่งขันได้กับบริษัทต่างประเทศ
รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการจะรับงานประกันภัยต่อจากต่างประเทศเข้ามาอีกด้วย
บริษัทประกันภัยควรลดการพึ่งพาการประกันต่อกับบริษัทต่างประเทศลดลง
โดยใช้การประกันต่อกับบริษัทภายในประเทศ
และบริษัทไทยรับประกันภัยต่อมากยิ่งขึ้น
หรืออาศัยการประกันต่อในภูมิภาคกับบรรษัทประกันต่อแห่งเอเชีย (Asian
Reinsurance Corporation) และบรรษัทประกันต่อแห่งอาเซียน (ASEAN
Reinsurance Corporation)
ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือของบริษัทภายในประเทศของภูมิภาค ESCAP
ของภูมิภาคอาเซียนตามเจตนารมณ์และเป้าหมายของความร่วมมืออย่างแท้จริง
3. การเสริมสร้างประสิทธิภาพบุคลากร
บุคลากรเป็นกำลังสำคัญยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการขยายตัวสูงมากใน
3-4 ปีที่ผ่านมา
ธุรกิจประกันภัยก็มีการเจริญเติบโตสูงมากกว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
การขยายตัวดังกล่าวทำให้บริษัทหลายแห่งมีบุคลากรไม่เพียงพอ
เนื่องจากบุคลากรในธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะผู้มีความรู้ความสามารถในด้านการประกันภัยโดยเฉพาะมีค่อนข้างจำกัด
หากจะให้มีความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น ควรต้องเพิ่มพูนประสิทธิภาพ
ความรู้ ความสามารถของบุคลากรมากยิ่งขึ้นพร้อมๆกับการเพิ่มบุคลากรทุกแขนงให้พอเพียง
โดยการสนับสนุนให้ทุนการศึกษาเพิ่มเติมอบรมภายในบริษัทหรือส่งไปอบรมวิชาชีพเฉพาะในต่างประเทศ
ฉะนั้น หากบริษัทประกันภัยได้มีการเตรียมพร้อมที่จะสามารถแข่งขันได้ทุกๆด้านแล้ว
ไม่ว่าผลการเจรจารอบอุรุกวัยจะเป็นเช่นไร
หรืออนาคตหากจะให้มีการแข่งขันกันโดยเสรีมากขึ้นแค่ไหน
ธุรกิจประกันภัยก็ควรที่จะพร้อมที่จะยืนสู้แข่งขันต่อไปได้ด้วยดี
และสามารถที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากยิ่งขึ้น
แนวทางพัฒนาสำหรับตัวแทนนายหน้าประกันภัย
ตัวแทนนายหน้าประกันภัยเป็นคนกลางระหว่างประชาชนผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย
จึงเป็นตัวจักรสำคัญและมีบทบาทยิ่งต่อการพัฒนาธุรกิจประกันภัยในประเทศ
และมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพพจน์และทัศนคติที่ดีต่อธุรกิจประกันภัยเพราะเป็นผู้ติดต่อใกล้ชิดกับประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ประสบอยู่
และเพื่อพัฒนาวิชาชีพนี้ให้ดียิ่งขึ้น
และเพื่อความพร้อมของการแข่งขันกับต่างชาติ
จึงขอเสนอแนวทางพัฒนาสำหรับตัวแทนนายหน้าในเรื่องต่อไปนี้
1. เสริมสร้างความรู้ในวิชาการประกันภัยให้มากขึ้น
โดยเพิ่มพูนความรู้แขนงต่างๆ ของการประกันภัย เข้าใจลักษณะความเสี่ยงภัย
ความคุ้มครอง และกรมธรรม์ประเภทต่างๆ ตลอดจนสิทธิเงื่อนไข
ข้อยกเว้นแต่ละประเภท เพื่อสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน
และให้บริการอย่างใกล้ชิด
ซึ่งจะช่วยสร้างศรัทธาของประชาชนต่อธุรกิจประกันภัย
2. เสริมสร้างจรรยาบรรณในวิชาชีพ
โดยการยึดถือจรรยาบรรณที่พึงมีต่อผู้เอาประกันภัยต่อบริษัทประกันภัย
ต่อเพื่อร่วมอาชีพ มิควรมีการแข่งขันโดยวิธีการไม่ถูกต้อง
ไม่ทำลายเพื่อนร่วมอาชีพ หรือกล่าวร้ายโจมตีกันไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม
เพราะการกล่าวร้ายโจมตีซึ่งกันและกันย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบอาชีพนี้ไม่ดี
ประชาชนก็ย่อมไม่เชื่อถือและมีผลกระทบต่อความศรัทธาต่อธุรกิจ
ต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพไม่ควรมีพฤติกรรมเป็นการหลอกลวง เช่น
การนำเงินเบี้ยประกันภัยของประชาชนที่ส่งบริษัทไปใช้
ทำให้เกิดปัญหาตามมาเกี่ยวกับกรมธรรม์สิ้นผลบังคับ
ควรให้การแนะนำที่ถูกต้องในรูปแบบ
และขนาดของวงเงินเอาประกันภัยให้สอดคล้องกับฐานะรายได้ของผู้เอาประกันภัย
เพื่อมิให้มีอุปสรรคต่อการส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป
เพราะปรากฎว่ามีประชาชนที่เอาประกันภัยเพียงปีแรกแล้วไม่สามารถส่งเบี้ยประกันภัยต่อไปได้
ทำให้เกิดปัญหากรมธรรม์ขาดอายุ (Lapsation) ในอัตราค่อนข้างสูง
ซึ่งเป็นผลเสียที่ผู้เอาประกันภัยสูญเงินเปล่า
เป็นผลเสียต่อบริษัทประกันภัย เพราะการประกันภัยในปีแรกจะมีต้นทุนสูง
หากไม่มีการต่ออายุในปีต่อๆไปก็เป็นการขาดทุน ทำลายฐานะการเงิน
และการที่กรมธรรม์ขาดอายุเป็นการทำลายความรู้สึกว่าผู้เอาประกันภัยสูญเงินเปล่าไม่ได้อะไร
จึงทำให้ยิ่งไม่อยากทำประกันภัย
ตัวแทนนายหน้ามิควรแนะนำให้ผู้เอาประกันภัยเลิกทำประกันภัยจากบริษัทหนึ่งแล้วไปทำอีกบริษัทหนึ่งที่ตนเองสังกัด
หรือเพื่อให้ตนเองได้รายได้
ในขณะเดียวกันตัวแทนต้องช่วยป้องกันชื่อเสียงภาพพจน์ของวิชาชีพนี้
โดยหากทราบพฤติกรรมที่ไม่ดี ต้องหาทางขจัดบุคคลที่ไม่ดีออกไปจากวงการ
ซึ่งบริษัทประกันภัยจะต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันไม่รับบุคคลที่มีประวัติไม่ดีมีประวัติทุจริตเรื่องเงิน
การหลอกลวงประชาชน
นอกจากนี้ตัวแทนนายหน้าควรเป็นสมาชิกของสมาคมหรือชมรมของวิชาชีพนั้นๆ
พร้อมทั้งมีความสามัคคีไม่แตกแยก และสมาคมหรือชมรม (แล้วแต่จะเรียก)
ควรเป็นองค์กรสำคัญที่จะปรับปรุงส่งเสริมคุณภาพ
ความรู้จรรยาบรรณของตัวแทน นายหน้าให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน
และประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
3. ขยายขอบข่ายการบริการอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะนายหน้านิติบุคคล
ซึ่งปัจจุบันบุคลากรจำกัด ขาดผู้มีความรู้ในวิชาการประกันภัยแขนงต่างๆ
จึงไม่สามารถให้คำแนะนำปรึกษาที่ถูกต้อง จึงต้องสร้างบุคลากร
และเพิ่มนานหน้าที่สังกัดบริษัทให้มีความรู้ความสามารถ
และความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องอย่างแท้จริงไว้ในบริษัท
เพื่อสามารถให้บริการ และจัดการเรื่องการประกันภัยทั้งการประกันภัยโดยตรง
และการประกันภัยต่อได้อย่างครบถ้วน
คือสามารถทำได้อย่างครบวงจรภายในบริษัทโดยไม่ต้องพึ่งพาจากแหล่งอื่น
พร้อมทั้งสร้างความเชื่อถือศรัทธา และมีความรับผิดชอบต่อการจัดการ
เพื่อมิให้เกิดความเสียหายจากการชี้ช่องผิด
และต้องขยายขอบข่ายความสัมพันธ์กับบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อสามารถเลือกการประกันภัยที่ดี่ที่สุดให้ประชาชน
เมื่อมีความพร้อมทุกด้านก็สามารถที่จะแข่งขันได้กับชาวต่างชาติ
แนวทางพัฒนาสำหรับภาครัฐบาล
ภาครัฐบาลโดยเฉพาะกรมการประกันภัยซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงในด้านการคุ้มครองสิทธิ
และประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย
โดยการกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย
ตัวแทนและนายหน้าประกันภัย เพื่อให้ธุรกิจมีความมั่นคง
อยู่ในขอบเขตของกฎหมายไม่ดำเนินการในลักษณะผูกขาดและกีดกันการแข่งขันทางธุรกิจ
ตลอดจนการส่งเสริมพัฒนาการประกันภัยให้เจริญก้าวหน้า
และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
ภาครัฐจึงมีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคอื่นๆสามารถดำเนินการตามแนวทางพัฒนาและความเตรียมพร้อมให้บรรลุผลสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น
โดยควรพัฒนาทั้งส่วนของรัฐ และเอกชน ตลอดจนประชาชนไปพร้อมๆ กันดังนี้ คือ
1. เสริมสร้างประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของกรมการประกันภัย
ด้านบุคลากร : เพิ่มพูนความรู้ในวิชาการประกันภัยแขนงต่างๆ
โดยการจัดอบรมสัมมนาข้าราชการอย่างต่อเนื่อง
จัดหาทุนการศึกษาวิชาการประกันภัยแขนงต่างๆ
เพื่อให้ข้าราชการมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน
และมีประสิทธิภาพทั้งเป็นผู้นำในการส่งเสริมพัฒนารูปแบบการประกันภัยหรือทัดเทียมได้กับบุคลากรของภาคเอกชน
ตลอดจนการวางตัวบุคคลให้เหมาะสมกับหน้าที่การงานคือ
มีความรู้ความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆเพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ
และเสริมสร้างขวัญและกำลังใจของข้าราชการรวมทั้งให้ข้าราชการเข้าใจกฎระเบียบต่างๆ
ที่ต้องถือปฏิบัติต่อภายในประเทศและต่างประเทศอย่างชัดเจน
ด้านเครื่องมือเครื่องใช้ :
จัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพและ Office automation
ต่างๆมาใช้งานเพื่อขจัดปัญหาความล่าช้า
และสามารถลดปริมาณข้าราชการได้ตามนโยบายของรัฐ
2. ปรับปรุง กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆให้เหมาะสม
โดยกฎหมายที่จะปรับปรุงนั้นจะเข้มไปกว่าหรือมีข้อจำกัดต่อการเปิดเสรีมากไปกว่าที่เสนอข้อผูกพันไว้ไม่ได้
อย่างน้อยต้องคงที่ (Stand Still) หรือเปิดเสรีเพิ่มขึ้น
2.1 ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535
และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ให้มีความชัดเจน สมบูรณ์
และสอดคล้องต่อหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง (เนื่องจาก พ.ร.บ. ในสภาในเวลาจำกัด
จึงยังมีข้อบกพร่องอยู่)
2.2 ปรับปรุงประกาศกระทรวงว่าด้วยการลงทุนให้มีความชัดเจนเป็นแนวปฏิบัติที่เข้าใจง่าย
และขยายขอบเขตการลงทุนของบริษัทให้มากขึ้น
และให้สามารถลงทุนได้อย่างคล่องตัว
โดยเฉพาะควรให้มีแนวโน้มที่จะมีความเสรีมากขึ้นตามลำดับ (Progressive
Liberalization) (ได้ประกาศฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับเมื่อ 20 พฤศจิกายน
2536)
2.3 ปรับปรุงรูปแบบกรมธรรม์ให้เข้าใจง่าย
มีเงื่อนไขทั่วไปที่เหมือนกันทุกบริษัท
ให้มีกรมธรรม์มาตรฐานในประเภทต่างๆ ของการประกันภัยมากขึ้น
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ
และความมั่นใจของผู้เอาประกันภัยว่าสามารถซื้อกรมธรรม์จากบริษัทใดก็ได้จะไม่เสียเปรียบเพื่อให้ตัดสินใจซื้อประกันภัยโดยอาศัยปัจจัยการบริการที่ดีเป็นการส่งเสริมให้บริษัทแข่งขันกันในเรื่องให้บริการที่ดี
ซึ่งจะเสริมสร้างให้ประชาชนเกิดศรัทธา และอยากทำประกันภัยมากขึ้น
2.4 ปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัย
ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการเสี่ยงภัย
ปัจจุบันอัตราเบี้ยประกันภัยในประเทศไทยยังสูงกว่าหลายประเทศในการประกันภัยประเภทเดียวกัน
ทั้งนี้เพราะผู้ทำประกันภัยมีน้อยค่าใช้จ่ายสูง
จึงต้องปรับปรุงทั้งอัตราให้เหมาะสม
เพื่อให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยมากขึ้น
และหากส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยมากขึ้น
อัตราเบี้ยประกันภัยก็จะลดลงในที่สุด
3. ประกาศ เผยแพร่ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องหลักความโปร่งใส
โดยจะต้องประกาศและแจ้งกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆให้สถาบันต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องได้ทราบตลอดจนนโยบายและแนวทางปฏิบัติ (Administrative
Guidline) พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลแก่ผู้มาติดต่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
4. เสริมสร้างความมั่นคงและความสามารถในการรับประกันภัยของบริษัท
4.1 กำกับดูแล ตรวจสอบความมั่นคงในฐานะการเงินให้มีสภาพคล่อง
และมีเงินกองทุนครบตามกฎหมาย
4.2 ส่งเสริมให้บริษัทโตขึ้น เพื่อสามารถรับประกันภัยได้มากขึ้น
โดยการจดทะเบียนเพิ่มทุนให้สูงขึ้น
4.3 สนับสนุนให้บริษัทเล็กๆมีการรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียว
เพื่อลดค่าใช้จ่ายคงที่ เพื่อใช้ทรัพย์สินดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อมีโครงสร้างการบริหารงานที่ทันสมัย
และสามารถรับประกันภัยทุกประเภทได้อย่างครบวงจรเป็นการบริการผู้เอาประกันภัยได้ทั่วถึงทุกประเภท
4.4 ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เพื่อเป็นการขยายบริษัทให้ประชาชนมีโอกาสร่วมทุนและจะสนใจการประกันภัยมากยิ่งขึ้น
5. เสริมสร้างมาตรการลดการขาดดุลบริการและการพึ่งการประกันต่อต่างประเทศ
5.1 กำหนดมาตรการวิธีปฏิบัติให้มีการเอาประกันภัยไว้ในประเทศมากขึ้น
5.2 สนับสนุนให้บริษัทจัดตั้งกองกลางรับประกันภัย (Pool)
รับประกันภัยเฉพาะพิเศษ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ขาดบุคลากร
และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านประกันภัยทางทะเล
โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก การประกันภัยทางการเกษตร
การประกันภัยความผิดต่อวิชาชีพ (Professional Liability Insurance)
เพื่อเป็นการลดดุลบริการที่ต้องอาศัยการประกันภัยในต่างประเทศ
5.3 ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้า
ได้ทราบถึงประโยชน์และบริการที่ดีกว่าของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งกับบริษัทในประเทศ
5.4 ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านประกันต่อภายในประเทศมากขึ้น
โดยผ่านบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ
และสนับสนุนความร่วมมือด้านประกันต่อภายในภูมิภาค ทั้ง ASEAN Reinsurance
Corporation และ Asian Reinsurance Corporation
6. เสริมสร้างศรัทธาของประชาชนต่อธุรกิจประกันภัย
6.1 รับเรื่องราวร้องทุกข์ และเร่งดำเนินการให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว
6.2 กำหนดแนวทาง ระยะเวลา
การดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ทุกบริษัทยึดเป็นมาตรฐานและปฏิบัติแนวทางเดียวกันเพื่อลดการร้องเรียน
6.3 รณรงค์ชี้แจง
ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจขั้นตอนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
การเตรียมเอกสาร หลักฐาน วิธีปฏิบัติ สิทธิ เงื่อนไข ข้อยกเว้นต่างๆ
6.4 ติดตามผู้เอาประกันภัยให้มารับเงินที่ครบกำหนดสัญญาที่ยังตกค้างอยู่ที่บริษัท
7. เสริมสร้างอาชีพตัวแทนนายหน้าประกันภัยให้มีมาตรฐาน
7.1 ปรับปรุงคุณภาพตัวแทนนายหน้า
โดยกำหนดหลักสูตรการสอบรับใบอนุญาตให้มีมาตรฐานเป็นการวัดความรู้ในวิชาการประกันภัย
และกำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสม
7.2 สนับสนุนให้ตัวแทนนายหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเป็นวิชาชีพ
โดยเฉพาะนายหน้านิติบุคคลต้องมีวัตถุประสงค์ดำเนินการอย่างอิสระและเป็นวิชาชีพ
มีนายหน้าที่มีความเชี่ยวชาญการประกันภัยครบทุกประเภทอยู่ในบริษัท
และมีความสามารถในการให้คำแนะนำปรึกษา
และช่องการจัดการประกันภัยอย่างถูกต้อง
7.3 จัดอบรมจรรยาบรรณตัวแทนนายหน้าประกันภัยอย่างต่อเนื่องทุกภาคของประเทศเพื่อเสริมสร้างความรู้
และจรรยาบรรณ ตลอดจนแนวทางการบริการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
8. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย
8.1 จัดทำเอกสาร หนังสือข้อแนะนำเกี่ยวกับการประกันภัย
และเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียน
นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั้งในส่งกลางและภูมิภาค
8.2 จัดทำวีดีโอเทป สไลด์มัลติวิชั่นและช้อตซีรี่
เกี่ยวกับการประกันภัยเพื่อเผยแพร่ทั้งในเมืองและชนบท
8.3 เผยแพร่และขยายความรู้โดยการบรรยายและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยในชนบท
ทั้งแก่ผู้นำท้องถิ่นและชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ
8.4 บรรจุเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยและจัดทำหนังสืออ่านนอกเวลา
เกี่ยวกับการประกันภัยร่วมกับสถาบันการศึกษา
รวมทั้งบรรจุหลักสูตรเกี่ยวกับการประกันภัยเข้าไว้ในหลักสูตรการอบรมสัมมนาของหน่วยงานอื่นๆ
เช่น วิทยาลัยการปกครอง
8.5 จัดอบรมความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยแก่ ครู-อาจารย์
ที่สอนวิชาการประกันภัยในสถาบันการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
8.6 จัดทำข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับการเจริญเติบโต
ผลการดำเนินงานความก้าวหน้าทางวิชาการประกันภัยและของธุรกิจ
รวมถึงกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ
ที่ได้แก้ไขและประกาศใช้ออกเผยแพร่ตามหนังสือพิมพ์และแจกจ่ายแก่หน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องทุกสัปดาห์
แนวทางพัฒนาสำหรับประชาชน
ปัจจุบันประชาชนยังไม่เห็นความสำคัญหรือประโยชน์ของการประกันภัย
ทำให้มีผู้ทำประกันชีวิต ประกันวินาศภัยน้อยมาก
ซึ่งต้องสร้างความตระหนักในเรื่องการประกันภัยตั้งแต่เยาว์วัยจึงเป็นการต้องใช้ระบบการศึกษาเป็นหลักช่วย
โดยต้องเป็นการร่วมมือกับของส่วนราชการ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง
1. บรรจุเนื้อหาความรู้ด้านประกันภัย ในหลักสูตรภาคบังคับของการศึกษาในระดับมัธยม
2. ส่งเสริมการจัดทำตารางเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยในการศึกษาระดับมัธยมปลายสายอาชีพ
อาชีวศึกษา และฝึกหัดครูให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3. ส่งเสริมการศึกษาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย
ในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสาขาที่มีความขาดแคลนด้านบุคลากร เช่น
สาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย
4. ส่งเสริมพัฒนาสถาบันประกันภัยให้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้การประกันภัยทุกแขนง
9. สรุป
ขณะนี้การเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัยที่ใช้เวลาเจรจามานานยังไม่แล้วเสร็จ
แต่เป็นที่คาดหวังว่าจะสามารถตกลงกันได้ ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2536
สำหรับธุรกิจประกันภัย หากได้มีการพัฒนาตามแนวทางเสนอแนะ
และทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในการที่จะพัฒนาธุรกิจให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นและมีความพร้อมต่อการแข่งขัน
หากจะต้องมีการเปิดเสรีมากขึ้น
ก็จะไม่กระทบกระเทือนต่อธุรกิจหากแต่จะเป็นผลดีต่อประชาชนมากยิ่งขึ้นและภาครัฐบาลชก็จะต้องปรับนโยบายและปรับปรุงกฎหมาย
เช่น พ.ร.บ.ประกันชีวิต และ พ.ร.บ. ปรันกันวินาศภัย
ตลอดจนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281
ให้สอดคล้องตามข้อตกลงการเจรจาการค้าหลายฝ่ายรอบอุรุกวัยต่อไป