Search for content in this blog.

2554-07-18

ประเภทของสัญญาประกันภัย


สัญญาประกันภัย

มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัย หากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญาและใน การนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย

มีข้อพิจารณาอยู่ 3 ประการ

1. เป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่ง ในการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าลักษณะประกันวินาศภัย คือถ้ามีภัยเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้

ส่วนการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เข้าลักษณะประกันภัยประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอน หรือสัญญาประกันชีวิต ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหายว่ามีเพียงใด หากมีเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา

2. มีเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน คือ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตอันเป็นวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา แสดงให้เห็นความไม่แน่นอนของหนี้ฝ่ายผู้รับประกันภัย ซึ่งแล้วแต่เงื่อนไขดังกล่าวว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนหนี้ของผู้เอาประกันภัยที่ต้องส่งเบี้ยประกันภัยนั้นแน่นอนเสมอ ที่กฎหมายแยกวินาศภัยกับเหตุการณ์อย่างอื่น เนื่องจากลักษณะที่แตกต่างของสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริงๆ จะเรียกเกินเป็นกำไรมิได้เป็นอันขาด (ฎ 64/2516) ส่วนที่ว่าเหตุการณ์อย่างอื่นในอนาคตนั้นได้แก่ประกันชีวิตคือ ความตาย

วินาศภัยที่ประกันภัยต้องมีลักษณะไม่แน่นอน ซึ่งอยู่ในความหมายที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 861 ว่า หากมีขึ้น (contingent loss) เหตุการณ์อย่างอื่นที่ระบุในสัญญาก็ต้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต เหตุการณ์หรือวินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้วจะเอามาเป็นเหตุประกันภัยไม่ได้

ฎ. 2513/2518 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สิ้นอายุเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคมเกิดอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 กรกฎาคม กรณีเช่นนี้ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในสัญญาประกันภัยในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับประกันวินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้ว โดยศาลฎีกาวินิจฉัยคำว่า วินาศภัยหากมีขึ้นตามมาตรา 861 ว่า หมายถึง วินาศภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากวันทำสัญญา วินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้วจะเอามาประกันภัยไม่ได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุอายุการประกันภัยย้อนหลังเป็นวันที่ 22 กรกฎาคม ก่อนเกิดวินาศภัยก็หาทำให้ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์นั้นได้ไม่

3. บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ผู้มีหน้าที่ส่งเบี้ยประกันเรียกว่า ผู้เอาประกันภัย เบี้ยประกันนี้เป็นเงินอาจส่งเป็นงวดหรือส่งเป็นก้อนก็ได้

Life Insurance Knowledge:Life Insurance , private, death, employee pensions and annuities,life insurance, educational, life insurance companies