ระยะหลังบริษัทประกันวินาศภัยควบรวมกันเยอะอย่างเคสประกันคุ้มภัยกับไอเอจีเราดูอยู่ เรามองการควบรวมไว้เหมือนกัน ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสถ้าจะควบรวมกับบริษัทอื่นเพิ่ม
กระแสควบรวมและซื้อกิจการของบริษัทประกันวินาศภัยที่เริ่มมีมากขึ้น อย่างรายล่าสุดที่กำลัง ควบรวมกันคือบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไอเอจีประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือของบริษัท อินชัวรันส์ ออสเตรเลีย กรุ๊ป (ไอเอจี) ยักษ์ใหญ่จากออสเตรเลีย ขณะที่บริษัทประกันภัยขนาดใหญ่จากต่างประเทศหลายแห่งประกาศแผนพร้อมซื้อกิจการบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยเพิ่มเพื่อเพิ่มขนาดธุรกิจ เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์)
เป็นสิ่งที่บริษัทประกันภัยโดยเฉพาะ ในกลุ่ม 5 อันดับแรก (Top Five) หรือ 10 อันดับแรก (Top Ten) ต้องเกาะติดความ เคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในอันดับ 5 ของอุตสาหกรรมจากการ ควบรวมระหว่างบริษัทเมืองไทยกับบริษัท ภัทรประกันภัยก็มองถึงการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นเพิ่มเช่นกัน
“ระยะหลังบริษัทประกันวินาศภัยควบรวมกันเยอะอย่างเคสประกันคุ้มภัยกับไอเอจีเราดูอยู่ เรามองการควบรวมไว้เหมือนกัน ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสถ้าจะควบรวมกับบริษัทอื่นเพิ่ม แต่การควบรวมไม่ใช่สิ่งที่ทำง่าย เราไม่ได้มองว่าการควบรวมเพื่อให้โตหรือมีเบี้ยมากอย่างเดียว เรามองเอาของดีเข้ามาหรือเปล่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มหรือไม่ พนักงานจะเป็นอย่างไร ต้องมองให้เกิดประโยชน์สูงสุดในองค์กร เรามองถึงกำไรและการรักษาพนักงาน ไว้ด้วย มองถึงความแข็งแกร่งภายใน การเพิ่มช่องทางขายต่างๆ” “นวลพรรณ ล่ำซำ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย ประกันภัย ให้ความเห็น
อย่างไรก็ดี แม้ไม่ควบรวมกิจการกับบริษัทอื่นเพิ่ม บริษัทต้องประเมินหากจะเติบโตด้วยตนเองทั้งในแง่สินค้า ช่องทางขายทำได้แค่ไหนเนื่องจากภาครัฐมีกฎใหม่ๆ ออกมามากขึ้นเช่นเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital : RBC) ต้องมองถึงความมั่นคงของบริษัทพร้อมกับต้องมีกำไรด้วย
เชื่อสิ้นปีเบี้ยเกินเป้า 5,325 ล้านเล่นรถปี 2 แทนป้ายแดงวิกฤติ
“นวลพรรณ” กล่าวว่า ประเมินจนถึงสิ้นปีเบี้ยรับรวมน่าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5,325 ล้านบาท หรือเติบโต 15% โดยครึ่งปีแรกนี้เบี้ยรวมน่าจะเกิน 2,500 ล้านบาท แต่จะถึง 3,000 ล้านบาทหรือไม่ บอกยากเป็นไปตามเป้าหมายหลังจากไตรมาสแรกเบี้ยประกันภัยเติบโต 8% มีเบี้ยรับ 1,326 ล้านบาท กำไรสุทธิเพิ่ม ขึ้นถึง 96%
ซึ่งในไตรมาสสองนี้ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยต้องเติบโตเกิน 8% แม้จะอยู่ในภาวะ ประคองตัวเพราะตลาดประกันภัยรถยนต์ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในญี่ปุ่น การส่งมอบรถใหม่ชะลอตัวลงทำ ให้ลูกค้ารถป้ายแดงลดลง แต่บริษัทหันไป เน้นตลาดรถปี 2 ขึ้นไปหรือรถต่ออายุมาก ขึ้น โดยบริษัทมีเบี้ยรถยนต์ประมาณ 40% ของทั้งหมด
“จริงๆ ลูกค้ารถต่ออายุเป็นลูกค้าหลักของเราอยู่แล้ว ในพอร์ตประกันภัยรถยนต์ที่เรามีอยู่เป็นลูกค้ากลุ่มนี้เยอะกว่า รถป้ายแดงที่มีการแข่งขันรุนแรง ดีลเลอร์ จัดประกันภัยเป็นของแถมให้ลูกค้า ทำกำไรยากนโยบายของเราเน้นกำไร”
บุกทุกช่องทางเน้นตัวแทนโหมขาย “นอน มอเตอร์”
ยิ่งกว่านั้น จะขยายประกันภัยไม่ใช่รถยนต์ (นอน มอเตอร์) มากขึ้นผ่านช่องทางจำหน่ายต่างๆ ที่มีอยู่หลายช่องทางทั้งตัวแทน นายหน้า สถาบันการเงิน โดย จะขยายงานผ่านช่องทางตัวแทนมากขึ้นทั้งหาสินค้าใหม่ๆ รองรับ พัฒนาวิธีการซื้อประกัน การชำระเงินให้ง่ายสะดวกกับตัวแทนและลูกค้า โดยบริษัทมีความได้เปรียบตรงที่สามารถสร้างตัวแทนเต็มเวลาได้มากขึ้น ปัจจุบันมีตัวแทนกลุ่มนี้ มากกว่า 3,000 คน
ส่วนช่องทางธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) มีธนาคารเป็นพันธมิตรอยู่หลายแห่ง แต่แบงก์หลักคือกสิกรไทยที่ติดกลุ่มผู้นำในช่องทางนี้ด้วย โดยแบงก์แอสชัวรันส์ที่ผ่านมามีอัตราเติบโตกว่า 60%
“ประกันรถยังเน้นประกันประเภท 1 อยู่ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ นำแบบประกันอื่นๆ ไปเสนอขายเพิ่มเติมให้กับลูกค้าในลักษณะ Cross sell เช่น ประกันอุบัติเหตุ ส่วนบุคคล (พีเอ) ประกันอัคคีภัย เป็นต้น สินค้าที่นำไปเสนอมีทั้งเก่าและใหม่จับฐาน ลูกค้าตลาดแมส”
จุดแข็งประกัน “ไฟแนนเชียล ไลน์”D&O /ประกันวิชาชีพ/ก่อการร้าย
“นวลพรรณ” กล่าวว่า ในส่วนของประกันนอน มอเตอร์ บริษัทมีความแข็งแกร่งด้านผลิตภัณฑ์ไฟแนนเชียล ไลน์ อาทิ ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและพนักงานของบริษัท (Direct’s and Officers liability insurance : D&O, ประกันภัยความรับผิดต่อวิชาชีพ (Professional Indemnity Insurance : PI), การ ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อสาธารณะ (Public Liability Insurance : PL) ประกันภัยสินเชื่อทางการค้า (Trade Credit Insurance) ประกันภัยก่อการ ร้าย เป็นต้น
อย่าง D&O บริษัทเป็นเจ้าตลาดอยู่โดยรับประกันเป็นเจ้าแรกมาร่วม 10 ปีแล้วมีเบี้ยรับประมาณ 150 ล้านบาทมีลูกค้าเป็นหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจและบริษัทอื่นๆ เกือบ 100 บริษัท แม้ระยะหลังการแข่งขันจะรุนแรงมีหลายบริษัทเข้ามาทำตลาดมากขึ้น แต่การรับประกันภัยประเภทนี้ไม่ง่าย การเข้าไป ดิวงานต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ เพราะการรับประกันภัยค่อนข้างซับซ้อน บริษัท รับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอส์) ที่จะรองรับมีน้อย ซึ่งบริษัทอบรมพนักงานอย่างหนักเพื่อให้มีความรู้ทางด้านนี้รวมถึงเทรนด์กับต่างประเทศด้วยซึ่งการขายมีทีมขายตรงที่จัดตั้งขึ้น พิเศษเจาะตลาดนี้โดยเฉพาะหาลูกค้า ใหม่ๆ เพิ่ม
ส่วนประกันภัยความรับผิดต่อวิชาชีพเริ่มโตตามกระแส ระยะหลังมีวิชาชีพต่างๆ ถามเข้ามามากขึ้น อาทิ นักออกแบบ บัญชี วิศวกรซึ่งในเวลารับงานจะมีเงื่อนไข กำหนดว่าต้องมีประกันภัยประเภทนี้ เบี้ย รับยังไม่มากหลัก 10 ล้านบาทประมาณ ขณะที่ประกันภัยก่อการร้ายเติบโตดีเช่นกันมีเบี้ยรับกว่า 100 ล้านบาท ลูกค้าราย ใหญ่ๆ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ที่ทำประกันสรรพภัย (All Risk) หรือประกันธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insuranance : BI) มีเบี้ยรับกว่า 100 ล้านบาท
“เราจะบุกสินค้ากลุ่มไฟแนนเชียล ไลน์ทุกตัวอย่างประกันก่อการร้ายหลังเกิดเหตุเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนคนให้ความสำคัญมากขึ้น ที่เรามองๆ ไว้ลูกค้ารายย่อยกลุ่มร้านค้าในห้างอย่างที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ในปีที่แล้ว จะมีแพ็กเกจทุน ประกันเล็กๆ ขายให้ รวมถึงลูกค้าสถาบัน หรือองค์กรใหญ่ๆ ที่จะมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงจะมองตัวนี้เป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งด้วย รีอินชัวเรอส์ต่างประเทศมีรองรับเพราะหลังจากปีก่อน รีอินชัวเรอส์จะมีคาปาซิตี้ให้แต่ละประเทศ”
หาลูกค้าองค์กรแบบ กบข. เพิ่มครึ่งหลังรอดูสถานการณ์การเมือง
นอกจากนี้ จะขยายลูกค้าองค์กรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เพิ่ง เข้าไปร่วมรับประกันปีนี้เป็นปีแรก โดยเตรียมจะเปิดตัวลูกค้าองค์กรรายใหม่ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้เป็นองค์กรเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งมีลูกค้าเป็น หลักล้านรายแต่ไม่สามารถบอกชื่อได้
“นวลพรรณ” กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะไปได้ดีอยู่ หากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงทางการเมือง โดยปัจจัยที่น่ากังวลที่อาจจะมีผลกระทบต่อเบี้ยประกันภัยคือตลาดรถยนต์ ปัญหาการส่งมอบรถ ล่าช้าเป็นปัจจัยหลัก อัตราดอกเบี้ยสูงไม่น่าจะกระทบมากตรงกันข้ามดีกับบริษัทประกันภัยในแง่ของการลงทุนสามารถจัด สินทรัพย์ลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนจากเงินฝากได้มากขึ้น รวมไปถึงตลาดหุ้นผันผวน ซึ่งบริษัทไม่กังวลมากเนื่องจากไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นมากประมาณ 25% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด